วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Timeline Thailand60’s (1)

Timeline Thailand60’s (1)

2490-2499

2490

การเมือง

- 24 มีนาคม ป.พิบูลสงครามแสดงเจตนารมณ์ที่จะกลับเข้าสู่วงการเมือง โดยจะตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า ธรรมาธิปัตย์ แต่ได้รับการต่อต้านอย่างมากจากฝ่ายสหชีพ และกลุ่มเสรีไทย [1]

- 1 เมษายนได้มีการจัดการชุมนุมใหญ่เพื่อปราศรัยต่อต้านและประณาม ป.พิบูลสงครามที่สนามหลวง มีประชาชนเข้าร่วมนับพันคน และน่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมของฝ่ายประชาชน ขณะที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มิได้แสดงท่าทีต่อต้าน ทั้งยังมีข่าวการพบกันระหว่างป.พิบูลสงคราม กับควงหลายครั้ง แนวโน้มดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ป.พิบูลสงคราม และพรรคประชาธิปัตย์ได้เริ่มมีการร่วมมือต่อต้านฝ่ายปรีดี [2]

- มีการกล่าวว่า การเปิดอภิปรายทั่วไปของพรรคประชาธิปัตย์เป็นการรัฐประหารทางสภา อันเนื่องจากการโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์ 7 วัน 7 คืน ในวันที่ 19-27 พฤษภาคม 2490 ที่ได้มุ่งโจมตีให้รัฐบาลเป็น ผู้ผิด ในกรณีนี้ ผสมกับการโจมตีเรื่องทุจริตขององค์การสรรพาหาร หรือกรณี กินจอบกินเสียม ที่มีข่าวแพร่ว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลนำจอมเสียมที่จะไปแจกจ่ายประชาชนนำไปขายนำเงินเข้รากระเป๋า หรือเหตุที่ชื้น โรจนวิภาต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิทธิธรรม ที่ลงข่าวโจมตีรัฐบาลเรื่องกรณีสวรรคต ก็ถูกคนร้ายยิงตายที่ ถนนเพชรบุรี 19 กุมภาพันธ์ โดยไม่สามารถจะจับคนร้ายได้ จึงเป็นที่วิจารณ์ว่าเป็นฝีมือของรัฐบาล [3]

- 8 พฤศจิกายน หลวงกาจสงคราม ผิน ชุณหะวัณ สวัสดิ์ ส.สวัสดิเกียรติ ทำการ รัฐประหาร รัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เชิญควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยข้ออ้างว่า เข้ามาคลี่คลายกรณีสวรรคต ร.8 และจัดการกับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น ครั้งแรกที่อ้างว่า รัฐประหารเพื่อจัดการคอรัปชั่น [4] เปิดประตูเข้าสู่ทศวรรษที่ยาวนานของอำมาตยาธิปไตยไทย ในข้อเสนอของสุธาชัยนั้น ได้ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวของรัฐบาลและขบวนการต่อต้านรัฐ และแบ่งยุคสมัยดังกล่าวเป็น 3ยุคคือ ยุคกึ่งเผด็จการ พ.ศ.2491-2494 ยุคเผด็จการ พ.ศ.2495-2498 และยุคฟื้นฟูประชาธิปไตย พ.ศ.2498-2500 [5]

- ความขัดแย้งของรัฐบาลถวัลย์กับกองทัพบก เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่พ.ศ.2487 อันเนื่องมาจากความตกต่ำของทหารบก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การถูกปลดประจำการของทหารจำนวนมาก การยุบเลิกหน่วยงานกรมกองทหารต่างๆ การถอยทัพทหารจากเชียงตุงโดยไม่ได้ใส่ใจดูแลทหาร กรณีอาชญากรสงคราม ซึ่งตรงกันข้ามกับขบวนการเสรีไทย ที่เป็นพลเมืองที่ได้รับการยกย่องเชิดชู สำนึกเกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ที่มีต่อกรณีสวรรคต รวมไปถึง ตำนานพิบูลสงครามที่ถวิลหาผู้นำทางทหารเข้มแข็งในยามที่บ้านเมืองระส่ำระสาย [6]

- คณะรัฐประหารล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2489 และได้นำเอา รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ที่ร่างโดย น.อ.กาจ เก่งระดมยิง[7] เป็นครั้งแรกที่ คณะทหารยึดอำนาจ ล้มรัฐธรรมนูญ [8] หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นต้นแบบของการรัฐประหารมาจนถึงครั้งปัจจุบันที่ใช้ทหารยึดอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา กล่าวคือ การประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายนนั้น มีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลงพระนามแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อีกคนหนึ่งมิได้ลงนามด้วย เพราะว่าไม่เต็มใจที่จะรับรอง [9]

- ผลของการรัฐประหาร ประการแรก ปิดฉากระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบของตะวันตก และสลายพลังทางการเมืองฝ่ายพลเมือง ที่จะมาถ่วงอำนาจฝ่ายทหาร ประการที่สอง ทำให้เกิดการฟื้นกลับมาของลัทธิอำนาจนิยม และการมีอำนาจเหนือการเมืองของกองทัพบก ประการที่สาม คือ ความปราชัยของคณะราษฎร ประการที่สี่ คือ ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโดยวิถีรัฐธรรมนูญไร้ความหมายลงไป รัฐประหารนำมาซึ่งการสลายตัวของลัทธิรัฐธรรมนูญ [10]

- ขณะที่คณะรัฐประหารยังไม่พร้อมที่จะบริหารประเทศ ด้วยปัญหาต่างๆ ได้แก่ ความไม่เป็นเอกภาพในกองทัพบก ความวิตกในอำนาจทหารเรือที่สูงยิ่ง การรับรองจากต่างประเทศ และบุคคลสำคัญรัฐบาลเก่าก็ยังมีสิทธิที่จะกลับมาฟื้นอำนาจได้ ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้จึงได้เปิดทางให้ ควง แห่งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สะท้อนเห็นความร่วมมือกันระหว่างพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมและคณะรัฐประหาร [11]

- 15 พฤศจิกายน รัฐบาลจับกุม พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) หัวหน้าแผนกตรวจวัง เฉลียว ปทุมรส อดีตเลขานุการในรัชกาลที่ 8 ชอุ่ม ชัยสิทธิเวช แม่บ้าน พร้อมด้วยมหาดเล็กอีก 2 คน คือ ชิต สิงหเสนี และ บุศย์ ปัทมศริน ข้อหาเกี่ยวกับกรณีปลงพระชนม์ พร้อมกันนั้นก็ได้ออกประกาศจับ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ทหารเรือนอกราชการกับปรีดี พนมยงค์ ในข้อหาเดียวกันด้วย[12]

- 5 ธันวาคม รัฐบาลเสนอ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้แก่คณะรัฐประหาร เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างของคณะรัฐประหารถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และทำให้ประกาศคำสั่งทั้งหลายของคณะรัฐประหารบังคับใช้ได้ตามกฎหมายด้วย [13] ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้ รัฐบาลควง ก็ออก พระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 (ยกเลิกพระราชกำหนด ไปในวันที่ 20 ธันวาคม ในปีเดียวกันนี้เอง ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลให้อำนาจทหารโดยขาดเหตุผล[14]) โดยมอบอำนาจให้แก่คณะรัฐประหารในการกวาดล้างจับกุมและคุมขัง บุคคลอันมีเหตุผลอันสมควรสงสัยว่าจะขัดขวางการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดำเนินการจับกุมบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปรีดี พนมยงค์หลายคน ตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน จนถึง 19 ธันวาคม การจับกุมครั้งใหญ่ เกิดขึ้นภายใต้การโหมโฆษณาว่าเป็น แผนการมหาชนรัฐที่จะทำลายประเทศไทย และสร้างเรื่องทำนองว่า หากไม่มีคณะรัฐประหารลงมือยึดอำนาจ การลงมือของแผนการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้น [15] ฟังดูคลับคล้ายคลับคลากับข้ออ้างในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นอย่างยิ่ง

เศรษฐกิจ

- คณะรัฐประหาร แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกลุ่มเดิมคือ คณะราษฎร โดยมิได้สร้างเสริมธุรกิจให้เข้มแข็งขึ้น แต่กลับดูดผลประโยชน์ส่วนใหญ่ ในที่สุดทำให้องค์กรเจ๊ง อยู่ไม่ได้หลัง พ.ศ.2500 แต่อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มการค้าได้จัดตั้งองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วหลังพ.ศ.2494 ที่อำนาจของรัฐบาล และกลุ่มทหารค่อนข้างเข้มแข็งแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่ามีผลประโยชน์เป็น 2 กลุ่มธุรกิจใหญ่ ได้แก่

1) กลุ่มราชครู (ผิน-เผ่า) สร้างอาณาจักร ทหารสามัคคี และ ศรีอยุธยา [16] มีกิจการในเครือดังนี้ บ.ทหารสามัคคี (2490) ศรีอยุธยาประกันภัย (2493) ค้าไม้ทหารสามัคคี (2494) ประกันชีวิตศรีอยุธยา (2494) สามัคคีก่อสร้าง (2495) ป่านไทย (2495) ค้าสัตว์ทหารสามัคคี (2496) ศรีอยุธยาพาณิชย์ (2496) ค้าสัตว์เอ๊กสปอร์ต (2497) ส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ (2497) เป็นต้น ทั้งยังเอาประโยชน์จากธุรกิจคณะราษฎรเดิมคือ ธนาคารศรีอยุธยา ธนาคารการเกษตร [17]

2) กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (สฤษดิ์ เป็นหัวหน้า) สร้างอาณาจักร รัชต สหสามัคคี และ บูรพา ซึ่งสืบเนื่องไปจนต้นพุทธทศวรรษที่ 2500 มีกิจการคือ ธนาคารเอเซีย บ.วิจิตรก่อสร้าง (รัชตก่อสร้าง, 2493) รัชตศิลา (2494) บางกอกเดินเรือและการค้า (รัชตบริการเดินเรือ, 2494) ทิพยประกันภัย (รัชตประกันภัย, 2494) บางกอกสากลการค้า (รัชตสากลการค้า, 2495) ธนะการพิมพ์ (2496) ไทยเซฟวิ่งทรัสพต์ (2500) และกรุงเทพไหมไทย (2503) ทั้งหมดเป็นกิจการส่วนตัวของสฤษดิ์ ส่วน บ.ทหารอยุธยา (2494) สหสามัคคีค้าสัตว์ (2498) เหมืองแร่บูรพา (2499) การค้าสามัคคี (2500) ธนาคารทหารไทย (2500) ทั้งหมดเป็นกิจการส่วนตัวของ ประภาส จารุเสถียรทั้งสิ้น[18] และยังเอาผลประโยชน์จากธุรกิจของคณะราษฎรมาเป็นฐานเศรษฐกิจของตนคือ สหธนาคารกรุงเทพฯ บ.คลังสินค้าแม่น้ำประกันภัย บ.ไทยประกันชีวิต บ.นครหลวงประกันภัย บ.คลังสินค้าแม่น้ำ[19]

................................................................................................

2491

การเมือง

- ผลตกค้างจากกรณี ฝ่ายมหาชนรัฐ ทำให้ตำรวจยังคุมขัง เฉลียว ปทุมรส, ชิต สิงหเสนี และ บุศย์ ปัทมศริน เป็นจำเลยต่อไป และได้มีการเสนอพระราชบัญญัติเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาให้ขายการคุมขังผู้ต้องหานี้ วุฒิสภาอนุมัติเมื่อวันที่ 23 มกราคม[20]

- 29 มกราคม จัดการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลพยายามสลายกำลังกลุ่มการเมืองฝ่ายปรีดี และปรับกติกาการเลือกตั้งที่ผู้มีอายุไม่ถึง 35 ปีลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้ ส.ส.เก่าหลายคนจึงหมดโอกาส [21]

- อย่างไรก็ตามแม้พรรคประชาธิปัตย์จะครองเสียงเกินครึ่งในสภา แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ด้วยความขัดแย้งกับคณะรัฐประหารตั้งแต่เรื่อง วุฒิสภาที่เต็มไปด้วยขุนนางเก่าและเจ้า[22] นอกจากนั้น รัฐบาลควงยังได้ล้ำเส้นสำคัญ กล่าวคือ ได้เสนอว่า

จะได้ปรับปรุงกิจการทหารให้สอดคล้องกับการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย คือ จัดให้กำลังทหารทั้งหมดเป็นส่วนของชาติโดยแท้จริง ทั้งไม่ให้ทหารเล่นการเมือง และไม่ให้ทหารเป็นเครื่องมือของนักการเมืองใดๆ [23]

และการที่รัฐบาลแสดงความเป็นห่วงในกรณีที่ต่างประเทศไม่รับรองฐานะรัฐบาลติดขัดอยู่ที่จอมพล ป. เกรงว่าจะกลับเข้ามามีบทบาท ซึ่งทหารไม่พอใจเป็นอย่างมาก [24] หรือการขัดแย้งของบุคคลในรัฐประหารกับรัฐบาล เช่น ผิน ชุณหะวัณ และเผ่า ศรียานนท์ [25]

- ในที่สุด คณะรัฐประหารก็บังคับให้ ควง อภัยวงศ์ ลาออก โดย ป.พิบูลสงคราม ได้กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในวันที่ 8 เมษายน และต่อเนื่องยาวนานไปจนถึง พ.ศ.2500 [26] จึงแสดงให้เห็นธาตุแท้ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่นำโดยควงว่า ไม่ได้ยึดถือวิถีรัฐสภาอย่างแท้จริง แม้จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง เมื่อโดนจี้บังคับให้ลาออก ก็ยังต้องถามก่อนว่า ตัวเขาเองมีทหารสนับสนุนหรือไม่ โดยไม่ได้คำนึงถึงอำนาจที่ได้มาจากประชาชนเลย[27]

- พฤษภาคม สุรีย์ ทองวานิช บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงไทย มีแนวโน้มสนับสนุนปรีดี ถูกคนร้ายบุกเข้ายิงจนบาดเจ็บสาหัส [28]

- หลังจากที่ ป.พิบูลสงคราม เลิกขวนอายและขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาได้เสนอตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนสมาชิกสหพรรค เพื่อป้องกันปัญหารัฐสภาที่เข้าเคยประสบเมื่อพ.ศ.2487 นับเป็นครั้งแรกที่ก่อระบบ อามิส ในรัฐสภาอย่างเปิดเผย[29]

- 3 สิงหาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองกว่า 5,000 คน ประท้วงในกรณีที่เนติบัณฑิตสภาจะจำกัดสิทธิของนักศึกษาในการประกอบอาชีพทางด้านกฎหมาย [30]

- คดีสวรรคตก็ยังดำเนินต่อไป โดยมีพล.ต.ต.พระพินิจชนคดี (เซ่ง อินทรทูต) พี่เขย เสนีย์ ปราโมช และยื่นฟ้องศาล วันที่ 7 สิงหาคม จำเลยได้แก่ เฉลียว ปทุมรส, ชิต สิงหเสนีย์ และ บุศย์ ปัทมศริน ขณะที่ยังออกหมายจับปรีดี และร.อ.วัชรชัย อยู่เหมือนเดิม [31]

- 1 ตุลาคม แผนยึดอำนาจของ กบฏเสนาธิการ ล้มเหลว กลุ่มนี้มีลักษณะเป็น ทหารปัญญาชน ที่มีลักษณะทหารอาชีพ ไม่ยุงการเมือง ผู้นำโรงเรียนเสนาธิการก็ล้วนจบนอก ขณะที่คณะรัฐประหารยกเว้นป.พิบูลสงคราม ล้วนเป็นผลผลิตภายในประเทศ ความล้มเหลวครั้งนี้มี ความเสียหายร้ายแรง ทำให้กองทัพบกต้องเสียนายทหารระดับหัวกะทิที่มีแนวโน้มประชาธิปไตยมากที่สุดในกองทัพไป และทำให้กองทัพมีแนวโน้มไปทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้น[32]

ข่าวในพระราชสำนัก

- รัฐบาลนิยมเจ้าของควงออก พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 มีผลให้เปลี่ยนสถานะ และการควบคุมการใช้จ่ายกษัตริย์ ทั้งการย้าย ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ที่ถูกย้ายออกจากความดูแลของสำนักพระราชวังในสังกัดรัฐบาล ไปอยู่กับกษัตริย์เป็นส่วนพระองค์โดยเด็ดขาด รวมไปถึง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ถูกเปลี่ยนจากกองหนึ่งในกระทรวงการคลัง กลายเป็นองค์กรอิสระที่ขึ้นกับกษัตริย์โดยตรง ซึ่งจะทรงแต่งตั้งใครเป็นกรรมการหรือจะทรงใช้สอยรายได้นั้นอย่างไรก็ได้ ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่ากรณีใดๆ [33]

................................................................................................

2492

การเมือง

- ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 หรือที่เรียกกันต่อมาว่า กบฏวังหลวง นำโดย ปรีดี พนมยงค์ มีอุดมคติทางการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย โดยสู้เพื่อประชาธิปไตย มีรากฐานมากจาก อดีตแกนนำพรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ และพรรคอิสระ มีโครงสร้างภายในคือ ฝ่ายคณะราษฎร กลุ่มส.ส.ประเภทที่1 กลุ่มธรรมศาสตร์และการเมือง และสายกำลังทหารตำรวจ แผนขบวนการนี้ เน้นการรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 มากกว่า พ.ศ.2489 ที่ประนีประนอมกับข้อผูกมัดเดิมทีว่า ห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั่นเอง การต่อสู้กันอยู่ที่ 2 จุดใหญ่ คือ บริเวณวังหลวง และบริเวณ ราชประสงค์ ในช่วงแรกฝ่ายปรีดีได้เปรียบ แต่เหตุจากการส่งกำลังหลักจากทหารเรือมาไม่ทันตามกำหนดนัด จึงพ่ายแพ้ไปในที่สุด ฝ่ายปรีดีถูกกวาดล้างและปราบปรามอย่างหนัก ส่วนท่าทีของรัฐบาลกับทหารเรือ ยังสงวนท่าทีไม่เป็นศัตรูอย่างเปิดเผย แต่กลายเป็นระเบิดเวลาทางประวัติศาสตร์ที่รอการแตกหักในเวลาต่อมา [34] ในกรณีกบฏแมนฮัตตัน

- มีการตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายทหารเรือ และทหารบกมีจุดร่วมเดียวกัน คือ ไม่ต้องการให้กลุ่ม ส.ส.อีสานกลับมามีอำนาจ ซึ่งทั้งสองมีผลประโยชน์ในส่วนกลางต้องการพัฒนากองทัพ ขณะที่กลุ่มผู้นำอีสาน มีผลประโยชน์ผูกพันกับคนในท้องถิ่น และคัดคานการพัฒนามาตั้งแต่ต้น นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ฝ่ายทหารเรือลังเลที่จะสนับสนุนปรีดีอย่างเต็มตัว[35]

- การกวาดล้างฝ่ายปรีดีแสดงออกอย่างเกรี้ยวกราดเมื่อ 4 มีนาคม เกิด คดี 3 อดีตรัฐมนตรีอีสาน + 1 ได้แก่ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (ส.ส.อุบลราชธานี), จำลอง ดาวเรือง (ส.ส.มหาสารคาม), ถวิล อุดล (ส.ส.ร้อยเอ็ด) และ ทองเปลว ชลภูมิ(ส.ส.ปราจีนบุรี) ถูกสังหารที่บางเขน โดยนายตำรวจใต้การบังคับบัญชาของ เผ่า ศรียานนท์ โดยอ้างว่า ถูกโจรจีนมลายูปล้นเพื่อแย่งชิงนักโทษ[36]

- 23 มีนาคม ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 มีเจตนารมณ์ที่จะฟื้นอำนาจขอกษัตริย์ในแทบทุกหมวด ที่สำคัญก็คือ การถวายอำนาจให้เป็นผู้ เลือกและแต่งตั้ง วุฒิสภา และให้สิทธิแก่กษัตริย์ในการยับยั้งกฎหมายมากขึ้น และกษัตริย์ยังมีสิทธิในการขอประชามติจากประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีสิทธิแต่งตั้งองคมนตรี หรือให้ออกได้ตามพระราชอัธยาศัย ทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเป็นฉบับแรกที่ระบุให้ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกทั้งสองสภา ต้องปฏิญาณตัวต่อหน้ากษัตริย์ และที่สำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญระบุว่า

กำลังทหารเป็นของชาติ อยู่ในบังคับบัญชาสูงสุดของพระมหากษัตริย์

การใช้ทหารนั้นจะทำได้โดย

กระแสพระบรมราชโองการฯ เว้นแต่กรณีที่มีการประกาศกฎอัยการศึก และ

จะใช้กำลังทหารไม่ว่าโยตรงหรือโดยทางอ้อมเป็นเครื่องมือในทางการเมืองมิได้

ซึ่งเป็นความพยายามลดบทบาทฝ่ายทหารเพื่อให้มาอยู่ในความควบคุมของกษัตริย์นั่นเอง

แม้จะมีการแสดงความเห็นคัดค้านว่า เป็นการดึงพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก

เกินไป ควรให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกวุฒิสภาและองคมนตรี หรือ พระมหากษัตริย์มีพระราช

อำนาจมากเกินไป ฆ่าใครไม่มีความผิดแต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญนี้ก็ผ่านฉลุย [37]

- 5 มิถุนายน การเลือกตั้งทั่วไป ปรากฏผลที่น่าสนใจคือ ได้ส.ส.หญิงคนแรกของไทย อรพินท์ ไชยกาล (อุบลราชธานี) ครั้งนี้มีกลุ่มส.ส. 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายสหพรรค ได้แก่ พรรคประชาชน พรรคธรรมาธิปัตย์ กลุ่มอิสระหรือกลุ่มสหไทย[38]

- 1 ตุลาคม พรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดย เหมา เจ๋อตุง ได้รับชัยชนะ ขับไล่พรรคก๊กมินตั๋ง ไปอยู่ที่ไต้หวัน สถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ ให้กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สำเร็จ

- เผ่า ศรียานนท์คิดค้นระบบ แหวนอัศวิน ขึ้นใช้ในวงการตำรวจ เป็นแหวนทองสลักเป็นรูปตราแผ่นดินลงยาสีแดง เพื่อใช้เป็นบำเหน็จความชอบพิเศษแก่ผู้ที่ทำความดีความชอบเฉพาะคราว [39]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- เมษายน วารสาร อักษรสาส์น ฉบับปฐมฤกษ์ วางแผง ในฐานะวารสารหัวก้าวหน้า ยุค 2490 ตั้งแต่พ.ศ.2492-2495 โดย สุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการ เป็นแหล่งกลางของปัญญาชนที่มีแนวความคิดสังคมนิยมสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบ สายประดิษฐ์ อัศนี พลจันทร สมัคร บุราวาส เสนาะ พานิชเจริญ แม้จะนำเสนอเรื่องแนวสังคมนิยม แต่ก็มิได้แตะเรื่องเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศนัก [40]

................................................................................................

2493

การเมือง

- ปีนี้ได้มีการตั้งพรรคชาติสังคมประชาธิปไตย เพื่อรวบรวมส.ส. ที่สนับสนุนนรัฐบาล สุธาชัยกล่าวว่า การตั้งสหพรรคมีผลต่อการทำลายการเมืองในระบบพรรค เนื่องจากว่า การเลือกตั้งแม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้ส.ส.เข้ามามากแต่ก็กลายเป็นฝ่ายค้าน ที่น่าสนใจก็คือว่า แม้รัฐบาลจะอยู่ได้ด้วยทหาร แต่ก็พยายามบริหารเสถียรภาพทางรัฐสภา จึงมีลักษณะทวิลักษณ์ ที่เรียกว่า กึ่งเผด็จการ [41]

- 27 มกราคม ป.พิบูลสงครามจับกุม กาจ กาจสงคราม ในข้อหากบฏ กล่าวหาว่า วางแผนรัฐประหารซ้อน จึงถูกเนรเทศไปฮ่องกง แต่ก็ได้กลับมาเมื่อ พฤษภาคม 2494 โดยการรับรองจากสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าจะไม่ยุ่งการเมืองอีก[42]

- มิถุนายน เกิดสงครามเกาหลี สงครามนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำรัฐบาลพิบูลสงครามไปเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ อันเนื่องจากกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ [43]

- 25 มิถุนายน หนังสือพิมพ์สยามรัฐวางแผง แสดงทัศนะต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง สนับสนุนสหรัฐอเมริกา และสงครามเกาหลี แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับขบวนการสันติภาพอย่างชัดเจน ยิ่งกว่านั้นยังแสดงบทบาทมุ่งฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน แต่อย่างไรก็ดี ในคราวรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึก หลังกบฏแมนฮัตตัน สยามรัฐก็ประท้วง โดย คึกฤทธิ์ ปราโมช งดเขียนคอลัมน์ และบทความทั้งหมด รวมทั้งงดลงเรื่อง สี่แผ่นดินด้วย [44]

- 24 กรกฎาคม รัฐบาลแถลงว่าจะส่งทหารจำนวน 4,000 คนไปร่วมรบในสงครามเกาหลี [45]

- กันยายน มีข่าวว่าคณะรัฐมนตรีจะยกร่างพระราชบัญญัติมธก. เปลี่ยนหลักสูตรให้เป็นแบบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง [46]

- 27 พฤศจิกายน กรรมการนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ออกประกาศสนับสนุนสันติภาพ ในระหว่างนี้ก็ได้มีการชักชวนให้นักศึกษามาร่วมลงนามสนับสนุนสันติภาพ ได้เป็นจำนวนนับหมื่นคน [47]

- เผ่า ศรียานนท์ แจกแหวนอัศวินรุ่นแรกปีนี้ ระบบแหวนอัศวินนี้ทำให้ฐานะของเขา มั่นคงมากในวงการตำรวจ มีนายตำรวจระดับชั้นผู้น้อยที่มีความสามารถ หรือมีความกล้ามาแวดล้อมและกลายเป็น อัศวิน ของเขาในขณะนั้น ในปีเดียวกัน ยังได้ตั้งหน่วยตำรวจพิเศษ เช่น ตำรวจยานเกราะ โดยสั่งซื้อรถยานเกราะมาถึง 40 คัน นอกจากนี้ยังตั้งหน่วยตำรวจพลร่ม ทำให้รูปแบบการปกครองด้วย รัฐตำรวจ เห็นได้ชัดเจนขึ้น[48]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- เป็นปีที่ภาพยนตร์ไทยเพิ่มผลผลิตอย่างก้าวกระโดดจากปี 2492 เพียง 6 เรื่อง[49] มาปีนี้เพิ่มเป็น 47 เรื่อง [50] อาจเรียกได้ว่า วงการภาพยนตร์ก้าวไปสู่ผลงานระดับอุตสาหกรรม

ข่าวในพระราชสำนัก

- ร.9 เสด็จกลับมาประทับในพระนคร และประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อ 28 เมษายน และประกอบพิธีพระบรมพิธีราชาภิเษก 5 พฤษภาคม[51]

- มีการฉายภาพยนตร์ประมวลข่าว พระบรมพิธีราชาภิเษก [52] น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการเผยแพร่สื่อทางภาพยนตร์เกี่ยวกับพระราชสำนักหลังพ.ศ.2475

- พระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษาที่ มธก. ซึ่งสำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก[53]

................................................................................................

2494

การเมือง

- กุมภาพันธ์ มีการจัดตั้งองค์กรพลเรือนขึ้นต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยตรง คือ สันนิบาตเสรีพันธ์แห่งประเทศไทย มี พ.อ.หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) เป็นประธาน มีการรณรงค์ในหมู่ประชาชน เช่น การจัดประกวดลิเกต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็นต้น [54]

- 29 มิถุนายน เกิด กบฏแมนฮัตตัน จี้ ป.พิบูลสงคราม บนเรือขุดแมนฮัตตัน โดย มนัส จารุภา [55] ผลจากกรณีดังกล่าว ทำให้เห็นว่า ป.พิบูลสงคราม ไม่ได้มีอำนาจเข้มแข็งและควบคุมได้ เหมือนสมัยที่เป็นนายกฯ ช่วงพุทธทศวรรษที่ 2480 และสร้างความเสียหายให้กองทัพเรือไทยอย่างยิ่ง นับแต่การสูญเสียเรือรบศรีอยุธยา พร้อมทั้งถูกลดอำนาจทางทหารลงไป กล่าวคือ

กองทัพเรือถูกจำกัดให้ปฏิบัติการแต่ทางทะเล กรมกองต่างๆ หน่วยทหารเรือประจำจังหวัดต่างๆ ให้โอนมาขึ้นกับกองทัพบก รวมทั้งย้ายกองบัญชาการทหารเรือไปอยู่สมุทรปราการ(ป้อมพระจุลฯ) ให้ไกลจากฐานอำนาจในกรุงเทพฯ หน่วยอากาศยานกองทัพเรือ ถูกยกไปขึ้นกับกองทัพอากาศ และ กองดุริยางค์ทหารเรืออันเลื่องชื่อ ถูกโอนไปอยู่กับกองบัญชาการสามเหล่าทัพ

เรียกได้ว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว กองทัพเรือเหลือแต่ซาก[56] แม้มนัส จารุภา จะทำการโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับกองทัพเรือโดยตรง แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ โดนรุมโจมตี จากทั้งทหารบก ทหารอากาศ และกองทัพตำรวจ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเป็นสาเหตุเดิมที่คุกรุ่นมาตั้งแต่กรณีกบฏวังหลวง และความไม่ไว้วางใจกองกำลังที่เข้มแข็งของกองทัพเรือมาเป็นทุนเดิม [57]

- กลุ่มเดียวที่ยังมีอำนาจระคายเคือง ต่อคณะรัฐประหารก็คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่มีวุฒิสภาเป็นอิสระจากรัฐบาล ซึ่งเป็นวุฒิสภาชุดเจ้า-ขุนนาง วุฒิสภาถึงขนาดวิ่งเต้นจัดตั้ง พรรคเจ้า ขึ้นโดยจะเชิญ พระองค์เจ้าธานีวัต องคมนตรีมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ถูกปฏิเสธ โครงการจึงระงับไป วุฒิสภา เล่นบทบาทฝ่ายค้านที่สำคัญตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 จนถึง ตุลาคม พ.ศ.2494 มีร่างพ.ร.บ.ส่งมาที่ วุฒิสภากลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ถึง 34 ฉบับ ความไม่คล่องตัวเชีนนี้ จึงมีกระแสให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจ หรือยุบเลิกวุฒิสภา จนเมื่อผ่านกรณีกบฏแมนฮัตตันผ่านไปแล้ว คณะรัฐประหารจึงลงดาบอีกครั้ง[58]

- 4 กรกฎาคม นวนิยาย สี่แผ่นดิน เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ไปจนถึงกลางปีพ.ศ.2495 [59]

- 5 พฤศจิกายน นักศึกษามธก. 3,000 คน บุกฝ่าทหารเข้าไปในมหาวิทยาลัยประกาศไม่ยอมออก ในที่สุดกองทัพบกที่ยึดมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่กบฏแมนฮัตตัน ในเดือนมิถุนายนก็ต้องคืนมหาวิทยาลัย ให้แก่นักศึกษา [60]

- 29 พฤศจิกายน เกิดการรัฐประหารทางวิทยุ ล้มล้างวุฒิสภา และรัฐธรรมนูญพ.ศ.2492 นำโดย ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลวงยุทธศาสตร์โกศล หลวงชำนาญอรรถยุทธ ฟื้น รณนภาอากาศ ฤทธาคนี เผ่า ศรียานนท์ และตั้งให้ ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เหตุที่ยึดอำนาจเพราะไม่พอใจ กลุ่มอนุรักษ์นิยม ในวุฒิสภาดังที่กล่าวไปแล้ว [61] ด้วยความมั่นใจในกองกำลังที่อยู่ในมือจึงไม่จำเป็นต้องเข็นรถถัง หรือกำลังทหารออกมาอีกต่อไป สะท้อนให้เห็นว่า ได้นำสภาพการเมืองระบอบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ ยินยอมให้ข้าราชการฝ่ายทหารและตำรวจ ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงมากขึ้น หลังจากนี้ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำจะหายไป แต่การเคลื่อนไหวต่อของกลุ่มสังคมนิยมที่เป็นมวลชนระดับกลาง และระดับล่างเข้ามาแทนที่ [62]

- 30 พฤศจิกายน รัฐบาลชั่วคราวได้ตั้งกรรมการ 15 คน เซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์โดยตรง จึงมีการประชุมสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2495 ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเลิกการเซ็น เซอร์หนังสือพิมพ์ในสภาวะบ้านเมืองปกติ และเสนอให้มีการผลักดันผ่านทางรัฐสภาเพื่อเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 นับเป็นครั้งแรกที่นักหนังสือพิมพ์ไทยต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตน แต่อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะบรรลุผล ก็ถูกรัฐบาลกวาดล้างครั้งใหญ่เสียก่อน [63]

- ขบวนการสังคมนิยมที่เคลื่อนไหวในช่วงดังกล่าวก็มีตั้งแต่ พรรคคอมมิวนิสต์ไทย ขบวนการกู้ชาติ ขบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นพลังชักจูงให้เกิดความเคลื่อนไหวของประชาชนได้กว้างขวางที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ.2483 เป็นต้นมา(การเรียกร้องดินแดน?) สุธาชัยถึงกับกล่าวว่า พลังของฝ่ายสังคมนิยมได้ก้าวขึ้นมาเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญในระดับชาติไปแล้ว [64]

- ป.พิบูลสงคราม นำเอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 กลับมาใช้ใหม่ ในปีพ.ศ.2494 ที่มีเนื้อหาจำกัดการใช้พระราชอำนาจเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง รัชกาลที่ 9 ทรงพยายามขัดขวางแต่ก็ไร้ผล มีการกล่าวว่า ป.พิบูลสงคราม ไม่สบายใจมาก เมื่อรู้ว่า รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนเมื่อเสด็จประพาสอีสาน จนกระทั่งไม่ยอมให้งบประมาณในการเสด็จประพาสในครั้งต่อๆไป [65]

- ธันวาคม คณะหยาดเลือด และคณะเสรีชน ออกใบปลิวโจมตี ไม่ให้สังฆกรรมทางการเมืองกับคณะรัฐประหาร [66]

ข่าวในพระราชสำนัก

- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ สถานพยาบาลมองซัวซี นครโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน [67]

................................................................................................

2495

การเมือง

- มกราคม กลุ่ม วิญญาณประชาธิปไตย ออกใบปลิวเรียกร้องให้ข้าราชการประท้วงรัฐประหาร โดยให้ปฏิเสธระเบียบวินัย และให้พร้อมใจลาออกจากราชการให้หมด ขณะที่ กองบัญชาการพลพรรคเสรีชนแห่งประเทศไทย โจมตีรัฐบาลอย่างดุดเดือดและลงท้ายว่าผู้เผด็จการ [68]

- 26 กุมภาพันธ์ การเลือกตั้งส.ส.ประเภทที่ 1 โดยปราศจากการสังกัดพรรคการเมืองใดๆ [69]

- 8 มีนาคม รัฐบาลประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 เพื่อจะสร้างความสมดุลต่ออำนาจกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 และอำนาจรัฐบาลที่ยังคงส.ส.ประเภทที่ 2(ส.ส.แต่งตั้ง) ไว้ในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2475 [70]

- 18 มีนาคม มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ถูกตัดคำว่า "การเมือง" ออก เปลี่ยนเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" (มธ.) ตำแหน่ง ผู้ประศาสน์ การถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นอธิการบดี [71] หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต ถูกเปลี่ยนแปลงเป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไป ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ.2495 [72]

- 21 มีนาคม กรณีกบฏมักกะสัน เนื่องมาจากคนงานรถไฟมักกะสันนัดหยุดงาน 2,000 คน [73]

- 24 มีนาคม ตั้งนายกรัฐมนตรีคนเดิม และคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นับเป็นเชื้อพระวงศ์สูงที่สุดที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี หลังพ.ศ.2475 เป็นต้นมา [74]

- 21 กรกฎาคม คณะรัฐประหารตั้ง คณะกรรมการนิติบัญญัติ คล้ายพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ทำหน้าที่กลั่นกรองการตรากฎหมายของรัฐบาล ที่มีการให้เงินเดือนพิเศษที่อ้างว่าเป็นเบี้ยประชุม ที่ไม่เรียกชื่อเป็นพรรค เพราะรัฐบาลห้ามตั้งพรรคการเมืองอย่างเปิดเผยนั่นเอง การควบคุมเสียงในสภาโดยอาศัยส.ส.ประเภทที่ 2 อย่างมีประสิทธิภาพทำให้เสียงของประชาชนที่เลือกตั้งและผู้แทนฯที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับการมองข้ามยิ่งกว่าครั้งใดๆ ตั้งแต่พ.ศ.2475 เป็นต้นมา [75]

- 26 สิงหาคม ตำรวจสืบทราบว่าจะมีคนก่อรัฐประหาร จึงจับ กบฏน้ำท่วม ที่มี กาจ กาจสงคราม นายทหารนอกราชการ ลักษณะแผนการก็คือ ในระยะเวลาที่น้ำท่วมทำให้รถถังรถเกราะไม่สามารถเคลื่อนกำลังได้ ทั้งยังถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย แต่สุดท้ายศาลสั่งปล่อยตัว เพราะหลักฐานอ่อนเกินไป [76]

- 10 พฤศจิกายน จนถึง 25 ธันวาคม [77] ตำรวจจับกุมผู้ต้องหากว่าร้อยคน ได้แก่ คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ขบวนการกู้ชาติ สื่อมวลชน นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทหารเรือ และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทย [78] เป็นต้น ที่รู้จักกันในนาม กบฏสันติภาพ อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ฝ่ายสันติภาพ ฝ่ายขบวนการกู้ชาติ และพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ซึ่งฝ่ายหลังนี้รัฐบาลไม่รู้ความเคลื่อนไหวมาก่อน [79] การเกิดขบวนการสังคมนิยมจนถึง พ.ศ.2495 มอบมรดกให้สังคมไทยอยู่บ้าง

ประการแรกคือ แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินค่าประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม คือ กรรมกร

ชาวนา

ประการที่สอง เป็นพลังในการวิพากษ์ และต่อต้านความร่วมมือไทย-อเมริกา

ประการที่สามคือ การวิพากษ์ศักดินาอย่างเป็นระบบ [80]

- 13 พฤศจิกายน 2495 รัฐบาลออก พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 มีต้นแบบมาจาก กฎหมายว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นอเมริกันของสหรัฐอเมริกา จึงได้ถูกเรียกว่า non-Thai activity Acts[81]

- ธันวาคม เตียง ศิริขันธ์ อดีตรัฐมนตรีอีสาน (กลุ่มเดียวกับ 3 รัฐมนตรีที่ถูกฆ่าไปเมื่อ พ.ศ.2492) พร้อมกับอดีตเสรีไทยอย่าง ชาญ และเล็ก บุนนาค ถูกตำรวจ อัศวิน ของ เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ รัดคอตาย และนำไป ย่างศพ ฝังทิ้งที่ป่ากาญจนบุรี [82]

วัฒนธรรมบันเทิงและวิถีชีวิต

- งานชุด "ไตรภาค" ในชื่อ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ รวม 3 เล่มของ พล. ต. ประจญ กิตติประวัติ ภายใต้นามปากกา "ตรียัมปวาย" โดย เล่มที่ 1 ว่าด้วยพระสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2495 หนาประมาณ 300 หน้า พร้อมภาพประกอบนับร้อยภาพ เล่มที่ 2 ว่าด้วย เล่มที่ 2 ว่าด้วยพระนางพญาพิษณุโลก ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2497 เล่มที่ 3 ว่าด้วยพระรอด เมืองลำพูน ซึ่งหนากว่า 600 หน้า ภาพประกอบกว่าร้อยภาพ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2503[83]

ท้องถิ่น

- รัฐบาลตรา พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.2495 เพื่อเร่งรัดการปกครองท้องถิ่นให้ขยายตัวไปทั่วประเทศ และเตรียมยกฐานะให้เป็นเทศบาลต่อไป

ข่าวในพระราชสำนัก

- ในหลวงและราชินีเสด็จมาประทับเมืองไทยเป็นการถาวร

- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม[84]

- ออก พระราชบัญญัติตำรวจราชสำนัก พ.ศ.2495 ให้มีนายตำรวจราชสำนักแห่งพระมหากษัตริย์[85]

................................................................................................

2496

การเมือง

- คำแถลงวาระเถลิงศกใหม่ ของป. พิบูลสงครามย้ำว่า การปกครองประเทศของตนนั้นเป็น

ระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ราษฎรปกครองราษฎรเอง [86]

- สุธาชัย กล่าวว่า ระยะพ.ศ.2496-2497 นั้น ลักษณะเผด็จการที่วางรากฐานมาตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ.2494 มีลักษณะสมบูรณ์แบบและเบ็ดเสร็จมากขึ้น เพราะไม่มีพลังที่ต่อต้านรุนแรงใดๆ เหลืออยู่อีกเลย ในระยะนี้จึงกลายเป็น ยุคทองของเผด็จการ [87]

- 6 มีนาคม มรณกรรมของโจเซฟ สตลิน นิกิตา ครุสชอฟขึ้นมาแทน ได้เสนอนโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างโลกทุนนิยมและสังคมนิยม [88]

- จิตร ภูมิศักดิ์ ทำหนังสือ 23 ตุลาคม ถูกทางตำรวจสั่งระงับพิมพ์เพราะเห็นว่าบางบทความมีแนวโน้มไปทางซ้ายจัด และกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้จับตัวจิตร ภูมิศักดิ์ โยนบกที่หอประชุมมหาวิทยาลัย มิหนำซ้ำ จิตรยังถูกสั่งลงโทษพักการเรียน 1 ปี [89]

ท้องถิ่น

- รัฐบาลออก พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ให้มีการเพิ่มสมาชิกประเภทที่ 2 (แบบแต่งตั้ง)กลับมาอีกครั้ง[90] ในฐานะ พี่เลี้ยง เป็นความคิดที่ดูถูกประชาชนในการดูแลตัวเอง ย้อนยุคกลับไปสู่ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตยไทยก่อนพ.ศ.2482 อีกครั้งหนึ่ง

- 17 พฤษภาคม การเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลประเภทที่ 1 ปรากฏว่า สมาชิกสภาเทศบาลที่รัฐบาลส่งเข้าไปแข่งขันนั้นก็สามารถผ่านเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก [91]

................................................................................................

2497

การเมือง

- 13 สิงหาคม - หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ พร้อมคณะ ออกเดินทางไปพบ พ.ต.ท. บุญเลิศ เลิศปรีชา ที่

หน่วยสันติบาลสงขลาแล้วหายสาบสูญไป[92]

- 24 กันยายน คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้มีการสร้างพุทธมณฑลให้ใหญ่ที่สุดเพื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษ [93]

- 31 ตุลาคม ศาลฎีกาตัดสินให้ประหารชีวิตจำเลย 3 คน ใน คดีสวรรคต คือ ชิต สิงหเสนี เฉลียว ปทุมรส และ บุศย์ ปัทมศริน ถือได้ว่าเป็นมลทินครั้งหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ลงโทษประหารชีวิตโดยที่จำเลยทั้งหมดปราศจากความผิด แต่กระนั้น ได้มีหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ (ประดิษฐ์ สุนทรแสง) องค์คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เพียงผู้เดียวที่เสนอเห็นแย้งว่า จำเลยทั้ง 3 ไม่มีความผิด [94]

ข่าวในพระราชสำนัก+ข่าวกีฬา

- 19 กันยายน -การจัดชิงแชมป์โลกครั้งที่สองในประเทศไทย จำเริญ ทรงกิตรัตน์ ชิงแชมป์อีกครั้ง โดยเป็นการชิงแชมป์ที่ว่างกับ โรเบิร์ต โคฮัง ชาวฝรั่งเศส ที่เวทีมวยชั่วคราว สนามกีฬาศุภชลาศัย ซึ่งในหลวง และ พระราชินีเสด็จทอดพระเนตรการชกด้วย ผลจำเริญเป็นฝ่ายแพ้คะแนน [95]

................................................................................................

2498

การเมือง

- 17 กุมภาพันธ์ ประหารชีวิต จำเลย 3 คนใน คดีสวรรคต คือ ชิต สิงหเสนี เฉลียว ปทุมรส และ บุศย์ ปัทมศริน หลังจากที่จำเลยได้ทูลขอพระราชทานอภัยโทษแล้วไม่ประสบผล [96]

- 14 เมษายน ถึง 22 มิถุนายน ป.พิบูลสงครามเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา รวม 70 วัน นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำไทยตั้งแต่พ.ศ.2475 การกลับมาคราวนี้ ก็ได้เริ่มผลักดันให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้น [97]

- 1 กรกฎาคม ป.พิบูลสงครามเริ่มแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในการแถลงข่าวระยะแรกได้นำเอาคณะรัฐมนตรีมาร่วมแถลงข่าว และเปิดโอกาสให้ฝ่ายหนังสือพิมพ์ซักถามรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ [98] ในการแถลงข่าวครั้งนั้นได้ปรารภว่า จะลาออกจากตำแหน่งในพ.ศ.2499 เพื่อลงรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา [99]

- 18 กันยายน ป.พิบูลสงคราม ออกจดหมายสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ใช้นโยบายเดียวกันคือ ให้จัดสถานที่สำหรับไฮด์ปาร์คในจังหวัด เช่นเดียวกับสนามหลวงในกรุงเทพฯ ด้วย [100]

- 29 กันยายน ป.พิบูลสงคราม รวมสมาชิกในวงการรัฐบาลและรัฐสภาไปจดทะเบียนพรรคการเมือง ใช้ชื่อว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ถูกเรียกในฉายาว่า พรรคอุดมสตางค์ แต่ป.พิบูลสงคราม ก็พยายามโยงความสืบเนื่องจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 [101]

- 8 พฤศจิกายน สฤษดิ์ ธนะรัชต์ไม่เห็นด้วย และวิจารณ์กรณีที่รัฐบาลยินยอมให้มีการไฮด์ปาร์ค ซึ่งก่อให้เกิดการก่อกวนให้วุ่นวาย ในวันเดียวกันนั้น กลุ่มไฮด์ปาร์คได้เดินขบวนไปวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในโอกาสครบรอบ 8 ปีของการรัฐประหาร และเรียกร้องให้สลายคณะรัฐประหารพร้อมกับยกเลิก ส.ส.ประเภทที่ 2 [102]

- 10 ธันวาคม กลุ่มไฮด์ปาร์คได้นำประชาชนนับหมื่นคนเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกบทเฉพาะกาล เลิกส.ส.ประเภทที่ 2 และคัดค้านกฎหมายประกันสังคม ตำรวจได้เข้าสกัดกั้น แสดงให้เห็นว่าไฮด์ปาร์คจะไปไกลเกินกว่ารัฐบาลจะยอมรับได้แล้ว [103]

- เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงของป.พิบูลสงคราม คือ ผิน และเผ่า กลุ่มราชครู เริ่มมีอำนาจที่จะคุกคาม จึงมีการดัน และดุลอำนาจใหม่ด้วยการสนับสนุนการขยายตัวของกองทัพอากาศ [104]และเปิดทางให้สฤษดิ์เติบโตขึ้นมาในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก [105]

- ตัวเลขของทาเดียส ฟลัดชี้ว่า พ.ศ.2498-2499 มีตำรวจทั่วประเทศราว 48,000 คน เฉพาะในกรุงเทพฯมีถึง 10,000 คน ขณะที่ฝ่ายกองทัพมีกำลังพล 45,000 คน [106]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- 24 มิถุนายน เปิดป้ายนามสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยที.วี แพร่ภาพออกอากาศสู่เครื่องรับประมาณ 1,000 เครื่อง [107]

- ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ เขียนบทความ แด่...แม่ ลงใน วารสารธรรมศาสตร์ ฉบับที่ระลึกวันธรรมศาสตร์สามัคคี 2498

กษัตริย์มาและกษัตริย์ไป เวียงวังกลายเป็นพงเสือ แต่ประชาชนเท่านั้นคงอยู่ สิ่งใดอันเป็นของประชาชน สิ่งนั้นไม่เคยดับสูญ มีแต่จะวิวัฒน์เจริญงอกงามยิ่งขึ้น เราผู้เป็นทายาทของประชาชน จะรักษาไว้ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง แผ่นดินของเรา แม่น้ำของเรา ความเป็นเอกราช และสันติสุขของเรา อิสรภาพและศิลปวัฒนธรรมของเรา จะไม่มีวันดับสูญตราบเท่าที่คนไทยยังหายใจอยู่

เราผู้เป็นทายาทของประชาชน จะรักษาประวัติศาสตร์ไว้มิให้ด่างพร้อยด้วยการทรยศของคนบางคน [108]

ท้องถิ่น

- ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 เดิมนั้นเป็นเพียงที่ปรึกษา (ปีพ.ศ.2481) แต่ตามพ.ร.บ.นี้ ได้ทำหน้าที่เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีสองสถานะคือ เป็นส่วนหนึ่งของราชการบริหารส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นนิติบุคคลแยกไปจากราชการแผ่นดิน [109]

ข่าวในพระราชสำนัก

- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน [110]

................................................................................................

2499

การเมือง

- เริ่มมี คำขวัญวันเด็ก เป็นครั้งแรก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็ก

แห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่ ป. พิบูลสงคราม ก็คือ จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม(วันเด็กแห่งชาติเริ่มมีเมื่อ พ.ศ.2498)[111]

- 7 มกราคม เผ่า ศรียานนท์ แสดงความใจกว้างด้วยการปรากฏตัวบนเวทีไฮด์ปาร์ค กิตติศักดิ์ ศรีอำไพ โฆษกไฮด์ปาร์ค จึงนำเผ่ามาสาบานต่อหน้าพระแก้ว เรื่องเกี่ยวกับว่าจะซื่อสัตย์ต่อประชาชนและประเทศชาติ รวมไปถึงคิดีที่เป็นที่ครหา ว่าถ้าหากเป็นผู้กระทำขอให้มีอันเป็นไป[112]

- 25 มกราคม รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัส ในวันกองทัพบก ข้อความตอนหนึ่งว่า

ทหารต้องเป็นของประเทศชาติ...ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่น ไปเที่ยวเล่นการเมือง ดังนี้เป็นต้น [113]

- 6 กุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ บางกอกไทม์ พาดหัวว่า จอมพล ป. ขัดกับ ร.9!”[114] ขณะที่ หยุด แสงอุทัย ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย และเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอบทความทางวิทยุกระจายเสียง อธิบายบทบาทอันควรของกษัตริย์

ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา หรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ซึ่งคำอธิบายดังกล่าวได้สร้างแรงตอบโต้ถึงกับว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และได้แจ้ง

ความต่อตำรวจด้วยซ้ำ[115]

- 18 กุมภาพันธ์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ดาวไฮด์ปาร์คคนสำคัญนำอดข้าวประท้วงรัฐบาล จนกว่าจะมีการเลิกส.ส.ประเภทที่ 2

- 21 กุมภาพันธ์ ตำรวจทำการจับกุมดาวไฮด์ปาร์ค 10 คน พร้อมตั้งข้อหา กบฏภายในราชอาณาจักร จึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า กบฏอดข้าว[116] ในวันเดียวกันนี้แคล้ว นรปติ เทพ โชตินุชิต ทิม ภูริพัฒน์ และคณะไปเยือนจีนแล้วเดินทางกลับมา ปรากฏว่าทั้งหมดถูกจับตัวในข้อหากบฏ จึงเรียกต่อมาว่า กบฏทัศนาจรจีนแดง[117]

- กุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สั่งระงับการปาฐกถาเรื่อง ผืนแผ่นดินใหญ่ที่ข้าพเจ้าได้เห็นมา นักศึกษาได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยโปสเตอร์ข้อความว่า ยุคมืด ห้ามกาลิเลโอพูดเรื่องโลกกลม [118]

- 30 เมษายน ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกร อย่างเป็นทางการครั้งแรก วันที่ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็นงานฉลองขนาดใหญ่ที่สนามหลวง ป.พิบูลสงครามได้มากล่าวปราศรับในงานฉลองนี้ด้วย [119] ช่วงนี้ถือว่าเป็น ยุคสไตร์ค เพราะการนัดหยุดงานของกรรมกรแผ่ขยายออกไปและเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งยังมีการเสนอให้กรรมกรไทยสามัคคีกับนายทุนชาติไทย เพื่อต่อต้านนายทุนจักรพรรดินิยม [120]

- ในปีนี้ได้มีพยายามสร้างการรวมตัวระหว่างนักศึกษาขึ้นมาเป็นองค์การกลาง โดยตัวแทนสถาบันการศึกษา 7 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยเทฆนิค และวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ประชุมร่วมกันและตกลงจะจัดตั้ง สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เพื่อจุดหมายให้มีการประสานและแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยมากขึ้น [121]

- ในการรณรงค์หาเสียงเพื่อเลือกตั้งในปีพ.ศ.2500 คู่แข่งสำคัญที่สุดคือพรรคเสรีมนังคศิลากับพรรคประชาธิปัตย์ โดยควง หัวหน้าพรรคจะนำคณะไปเยือนและตระเวนหาเสียงทุกภาค ประเด็นหลักที่ใช้โจมตีก็คือ เรื่อง ส.ส.ประเภทที่ 2 เรื่องการตั้งกระทรวงวัฒนธรรม และหากชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 มาใช้ และย้ำว่าหากมีสภาสูงแล้วจะต้องให้กษัตริย์แต่งตั้งแบบอังกฤษ มิใช่ให้ราษฎรเลือกแบบฝรั่งเศส [122]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- 5 เมษายน โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ, 2450-2499) ผู้แต่ง ผู้ชนะสิบทิศ ถึงแก่กรรมด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง และเบาหวาน ศิริอายุได้ 48 ปี[123] เรื่องผู้ชนะสิบทิศ จึงเป็นนวนิยายที่ยังแต่งไม่จบ ทั้งยังเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างแพร่หลาย

- เกิด สงครามหนังสือพิมพ์ ที่กลุ่มชนชั้นแสดงความขัดแย้งและต่อสู้กันด้วยการมีหนังสือพิมพ์ของตนเอง ป.พิบูลสงคราม ให้สังข์ พัธโนทัย ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ เสถียรภาพ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้ทนง ศรัทธาทิพย์ ออกหนังสือพิมพ์สารเสรี ตั้งแต่พ.ศ.2496 ส่วนไทรายวัน และ ไทสัปดาห์ ของเนตร เขมะโยธิน มีแนวโน้มสนับสนุนสฤษดิ์ ขณะที่เผ่าก็อยู่เบื้องหลังหนังสือพิมพ์เผ่าไทย และ ไทเสรี และหนังสือพิมพ์รายวันเช้า จนไปถึง สยามรัฐ และประชาธิปไตย ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และปิตุภูมิ ของฝ่ายสังคมนิยม นิติศาสตร์ฉบับศตวรรษใหม่ มีบทความสำคัญเช่นเรื่อง โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน โฉมหน้าจักรพรรดินิยม ความเป็นอนิจจังของสังคม ฯลฯ [124]

ท้องถิ่น

- มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 222/2499 เรื่องระเบียบบริหารราชการส่วนตำบลและหมู่บ้าน ลงวันที่ 8 มีนาคม 2499 ให้จัดตั้งสภาตำบล ซึ่งเป็นเพียงมาตรการทางการบริหาร ตัวบุคคลและรูปแบบการปกครองท้องที่ยังเหมือนเดิม [125]

ข่าวในพระราชสำนัก

- 7 ตุลาคม รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ตามประเพณีแล้วจะต้องมีการลดหย่อนโทษและปล่อยนักโทษ แต่รัฐบาลยินดีปล่อยและนิรโทษกรรมนักโทษจำนวนราว 3,000 คน ไม่รวมนักโทษการเมือง โดยให้เหตุผลว่าจะมีการล้างมลทินนักโทษการเมือง เนื่องจากงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพื่อให้งานดังกล่าวยิ่งใหญ่ และส่งผลต่อประชาชนมากกว่าการผนวชซึ่งเป็นเรื่องส่วนพระองค์ [126]

................................................................................................



[1] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.2491 2500)

(กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก), 2550, น.58

[2] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.58-59

[3] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.60-61

[4] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ภาคผนวก : ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารในประเทศไทย ใน รัฐประหาร 19 กันยา (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน), 2550, น.223

[5] อ่านรายละเอียดใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550.

[6] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.65-79

[7] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.109-110

[8] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ภาคผนวก : ความเป็นมาฯ ใน รัฐประหาร 19 กันยา, 2550, น.224

[9] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.109-110

[10] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.101-103

[11] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.101-103

[12] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.115

[13] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.113

[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.118

[15] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.115-117

[16] สังศิต พิริยะรังสรรค์. ทุนนิยมขุนนางไทย (พ.ศ.2475-2503) (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์), 2526, น.237

[17] สังศิต พิริยะรังสรรค์. ทุนนิยมขุนนางไทย (พ.ศ.2475-2503), 2526, น.175

[18] สังศิต พิริยะรังสรรค์. ทุนนิยมขุนนางไทย (พ.ศ.2475-2503), 2526, น.238

[19] สังศิต พิริยะรังสรรค์. ทุนนิยมขุนนางไทย (พ.ศ.2475-2503), 2526, น.175

[20] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.118

[21] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.118-120

[22] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.122

[23] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.123

[24] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.124

[25] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.125

[26] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ภาคผนวก : ความเป็นมาฯ ใน รัฐประหาร 19 กันยา, 2550, น.224

[27] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.131-132

[28] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.319

[29] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.138

[30] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.311

[31] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.173

[32] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.156-165

[33] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร?” ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2549, น.90-91

[34] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.186-189

[35] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.198

[36] พีรยา มหากิตติคุณ. แนวคิดและบทบาททางการเมืองของ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ใน ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1, (กรุงเทพฯ : โครงการมูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2544,น.86

[37] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.233-237

[38] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.139

[39] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.203

[40] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.276

[41] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.143

[42] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.150

[43] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.261

[44] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.323

[45] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.290

[46] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.312

[47] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.316

[48] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.203

[52] เรื่องเดียวกัน

[54] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.261

[55] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์. กบฏสันติภาพ, 2539, น.160

[56] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2548, น.70-71

[57] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.214-222

[58] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.238-240

[59] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.323

[60] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.316

[61] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ภาคผนวก : ความเป็นมาฯ ใน รัฐประหาร 19 กันยา, 2550, น.224

[62] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.242-243

[63] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.320-321

[64] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.280-306

[65] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.353

[66] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.265

[68] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.265

[69] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.252

[70] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.251

[71] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.318

[73] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.308

[74] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.253

[75] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.257

[76] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.266-267

[77] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.300

[78] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์. กบฏสันติภาพ, 2539, น.3

[79] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.302

[80] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.305-306

[81] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.303-304

[82] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, บรรณาธิการ. แนวคิดและบทบาททางการเมืองของ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ใน ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1, 2544, น.(9)

[83] ฉลอง สุนทราวาณิชย์. ข้อมูลรองรับอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการทำตลาดพระเครื่องไทย เมื่อพระเครื่องก้าวขึ้นเป็นสุดยอดของเครื่องรางไทย [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา

http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999648.html อย่างไรก็ตาม ฉลองกล่าวว่าเป็นบทความฉบับลำลองไม่เหมาะที่จะนำไปอ้างอิงใดๆ

[86] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.337

[87] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.305

[88] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.357

[89] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.353

[90] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.119-122

[91] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.130

[93] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.337

[94] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.264

[96] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.264

[97] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.327

[98] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.328

[99] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.330

[100] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.329

[101] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.342

[102] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.338-339

[103] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.339

[104] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.331

[105] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.333

[106] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.334

[107] สินิทธ์ สิทธิรักษ์. กำเนิดโทรทัศน์ไทย (พ.ศ.2493-2500) (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2543, น.151

[108] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.354

[109] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.144

[112] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.339-340

[113] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.376

[114] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.377

[115] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.377-378

[116] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.340

[117] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.349

[118] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.354

[119] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.350-351

[120] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.352

[121] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.354-355

[122] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.348

[124] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.356-357

[125] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.146

[126] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.378

ไม่มีความคิดเห็น: