วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Timeline Thailand60’s (2)

Timeline Thailand60’s (2)

2500-2510

................................................................................................

2500

การเมือง

- การหาเสียงเลือกตั้งในหลายจังหวัดมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และมีความรุนแรงคุกคามผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่นที่ นครนายก สระบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช สมุทรสาคร [1]

- 22 มกราคม รัชกาลที่ 9 โปรดให้สฤษดิ์เข้าเฝ้า และพระราชทานเงินส่วนพระองค์ 100,000 บาท เพื่อให้กองทัพบกนำไปใช้ในกิจการด้านต่างๆเป็นกรณีพิเศษ เนื่องในวันกองทัพบก พ.ศ.2500 [2]

- 26 กุมภาพันธ์ มีการเลือกตั้งระดับประเทศ และถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงการเลือกตั้ง โดย ป.พิบูลสงคราม ในข้อครหาว่าใช้ ไพ่ไฟ คือบัตรเลือกตั้งปลอม พลร่ม คือใช้กลุ่มบุคคลเวียนมาลงคะแนนให้ [3] ระหว่างนี้ สฤษดิ์ ได้เป็นที่นิยมขึ้นอย่างกะทันหันโดยหมู่นิสิต และหนังสือพิมพ์ สฤษดิ์ พูดถึงการเลือกตั้งว่า

ถ้าคุณถามผมโดยตรงผมจะตอบว่า เป็นการเลือกตั้งที่สกปรก สกปรกที่สุด ทุกๆคนโกง

อำนาจของรัฐบาลเสื่อมลงไปทุกที พร้อมไปกับสมรรถภาพที่ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาต่างๆได้เช่น วิกฤตการณ์ภาคอีสาน คดีฉ้อโกงไม้ ปัญหาเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์[4]

- 2 มีนาคม นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย จากกระทรวงมหาดไทย ไปจนถึงริมสะพานมัฆวาฬรังสรรค์[5] ท่ามกลางการประกาศภาวะฉุกเฉิน [6]

- 23 เมษายน แนวร่วมสังคมนิยมได้จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง โดยมุ่งวิพากษ์วิจารณ์นโยบายตามหลังสหรัฐอเมริกา และเรียกร้องให้ดำเนินนโยบายอิสระ และเปิดการติดต่อกับจีน [7]

- คณะชาวไทยที่เดินทางกลับมาจากจีนและโซเวียตในช่วงเดือน เมษายนถึงกรกฎาคม ส่วนมากลับมาก็จะถูกควบคุมตัวในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ [8]

- 12-18 พฤษภาคม - รัฐบาลจัด งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งอินเดียและลังกาเรียกว่า "พุทธชยันตี" โดยกำหนดให้วันที่ 12-14 พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ[9] อันเนื่องมาจากคติความเชื่อในศาสนาพุทธเรื่อง ปัญจอันตรธานที่กล่าวไว้ว่า พระพุทธศาสนาจะมีอายุ 5,000 ปี งานนี้จึงมีนัยหมายถึงว่า เวลาล่วงมาถึงครึ่งหนึ่งของพุทธศาสนาแล้ว งานนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง ซึ่งมี ป.พิบูลสงคราม เป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดัน ทักษ์ กล่าวว่า เนื่องมาจากที่ ป.พิบูลสงครามไม่ยอมให้งบประมาณเสด็จประพาส ในหลวงแสร้งทรงพระประชวรและป่วยเป็นข้ออ้าง แสดงว่ากริ้ว จึงงดเสด็จงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ[10] ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เข้าร่วมงานเช่นกัน [11]

- 25 พฤษภาคม กรรมกรรถไฟบางซื้อทั้งหมดพร้อมใจนัดหยุดงานและชุมนุมประท้วงการรถไฟแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องขอเพิ่มค่าแรง โดยรัฐบาลยอมรับเงื่อนไขส่วนใหญ่ โฆษกของสหภาพแรงงานกล่าวในครั้งนั้นว่า พวกเราประสบชัยชนะอย่างคนแขนขาด [12]

- 20 มิถุนายน ได้มีการเผยแพร่บันทึกพระยาศรยุทธเสนี ที่เป็นเจ้าของบ้านที่ตี๋ สุวรรณอ้างว่า ได้ยินปรีดี เฉลียว ชิต และรอ.อ.วัชรชัยสนทนากันถึงแผนการปลงพระชนม์ที่นั่น บันทึกดังกล่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ ได้เปิดเผยให้เห็นว่า ตี๋ สุวรรณนั้นเป็นพยานเท็จ ในกรณีสวรรคต และฉากทั้งหมดเป็นเรื่องที่พระพินิจชนคดี ผู้สอบสวนคดีสร้างเรื่องขึ้นเองทั้งสิ้น [13]

- 14 กรกฎาคม วันเกิดครบรอบ 60 ปี สฤษดิ์ส่ง สุนัข มาเป็นของขวัญเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนซื่อสัตย์ต่อจอมพล ป. เหมือนสุนัข [14]

- 18 สิงหาคม ส.ส.ภาคอีสาน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ตลอดจนพระภิกษุสามเณรชาวอีสานได้นัดรวมตัวกันครั้งใหญ่ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลได้ช่วยเหลือแก้ปัญหาเกี่ยวกับภาคอีสานแล้ว เนื่องจากฝนไม่ตก คนอีสานได้พากันหลั่งไหลเข้ามากรุงเทพฯมากมาย ต่างพากันยึดสถานีรถไฟ ริมถนน และวัดเป็นที่พักหลับนอน รัฐบาลได้สั่งจ่ายงบประมาณฉุกเฉินเป็นช่วยเหลือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเงิน 53 ล้านบาท หลังการชุมนุมประท้วง[15]

- 29-30 สิงหาคม ได้มีการอภิปรายในรัฐสภาโดยเฉพาะกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเผ็ดร้อน [16]

- เดือนสิงหาคม สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี [17]

- การโจมตีของทุกฝ่ายพุ่งเป้าไปที่ ป.พิบูลสงคราม ขณะเดียวกันก็ไปเข้าทางสฤษดิ์ [18] แม้แต่อุดม สีสุวรรณ ฝ่ายซ้าย ก็ได้รับชักชวนให้เห็นว่า สฤษดิ์เป็นทหารฝ่ายประชาธิปไตย [19]

- 5 กันยายน สฤษดิ์ลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา [20]

- 13 กันยายน ที่ประชุมส.ส.ประเภทที่ 2 และกลุ่มทหารได้ออกคำแถลงให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และให้เผ่า พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ [21]

- 15 กันยายน มีข่าวลือรัฐประหารแพร่สะพัดไปตลอดทั้งวัน กลุ่มไฮด์ปาร์คนำโดย กิตติศักดิ์ ศรีอำไพ ได้ชุมนุมโจมตีรัฐบาลที่สนามหลวง แล้วสร้างกระแสสนับสนุนสฤษดิ์ ประสานข้อเรียกร้องของฝ่ายทหาร โดยยื่นคำขาดให้ป.พิบูลสงคราม ลาออกภายในวันที่ 20 กันยายน ให้เผ่าลาออกทุกตำแหน่งและขับออกนอกประเทศ และให้สฤษดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี[22]

- 16 กันยายน สฤษดิ์ร่วมประชุม ป.พิบูลสงคราม หลังจากนั้นเวลา 11.40 น. ป.พิบูลสงคราม ไปเข้าเฝ้าในหลวงเพื่อขอให้มีพระราชโองการปลดสฤษดิ์จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่ คงจะได้รับพระราชดำริไม่เห็นชอบ... ในเวลา 21.00 น. รัฐประหาร[23] โดย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกับ ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร เฉลิมเกียรติ์ วัฒนางกูร เพื่อโค่นรัฐบาลป.พิบูลสงคราม และจัดการกับ เผ่า ศรียานนท์ ที่เป็นคู่แข่ง และ เป็นครั้งแรกที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็น ผู้บัญชาการรักษาพระนครฝ่ายทหาร[24]ที่สำคัญคือพระราชโองการนี้ออกโดยไม่มีผู้รับสนองเป็นครั้งแรกหลังพ.ศ.2475[25]

- การรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการอธิบายว่า ยังความปรีดาปราโมทย์แก่ประชาชนทั่วไป แม้แต่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนฝ่ายสังคมนิยม ก็ได้สดุดีและฝากความหวังต่อการรัฐประหารว่า

เมื่อรัฐบาลพิบูลสงครามได้ล้มลงแล้ว ประชาชนก็ได้ต้อนรับคณะทหารและผู้บัญชาการทหารบกในฐานะกัลยาณมิตรของเขา แล้วเฝ้าดูการคลี่คลายของเหตุการณ์ด้วยความเอาใจช่วย ในขณะเดียวกันที่ทางพวกฝรั่งตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่งนายฝรั่งผู้เป็นเจ้าเงินนายเงินของรัฐบาลไทยก็ได้มองดูการล้มลงของรัฐบาลพิบูลสงครามซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอำนาจ และปกป้องผลประโยชน์ของตนในประเทศไทยและในเอเชียอาคเนย์ด้วยความรู้สึกหวาดหวั่น แต่ก็ได้พยายามปลอบใจตนเองและเตือนคณะทหารไปด้วยในตัว [26]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- 2 มกราคม เด็กเผาเมืองพิษณุโลก ไฟไหมครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ หนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ เรียกว่า ไฟส่งพุทธกาล เพลิงไหม้กว่า 10 ชั่วโมง ในเนื้อที่ 400 ไร่ ค่าเสียหายประมาณ 160 ล้านบาท คน 6,600 คนไร้ที่อยู่ เหตุมาจากเด็ก 4 ขวบจุดไฟเผาลังกระดาษเล่น[27]

- พฤษภาคม มิถุนายน ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วประเทศ เริ่มจากในมลายูใกล้ชายแดนไทย อีก 10 กว่าวันแพร่มาถึงกรุงเทพฯ และแพร่ระบาดออกไปทั่วประเทศ มีผู้ป่วยกว่า 2 แสนคน โรงพยาบาลที่เคยหยุดวันพระก็ต้องหันมาเปิดรับคนไข้กันเป็นกรณีพิเศษ เรียกได้ว่าคนป่วยเพิ่มมากจนกรุงเทพฯเงียบเหงา โรงหนักโหรงเหรงไม่มีคนดู ต่างจังหวัด ชลบุรี สงขลา หาดใหญ่ นครราชสีมา สระบุรี สมุทรปราการ ฯลฯ ไข้หวัดใหญ่ได้ตีวงออกไป รวมกว่า 40 จังหวัด สรุปแล้ว หลังจากวันที่ 12 มิถุนายน ไข้หวัดใหญ่ก็ค่อยๆ ซาหายไป หลังจากระบาดรุนแรงมากว่า 15-16 วัน[28]

- นิติศาสตร์ฉบับศตวรรษใหม่ มีบทความสำคัญเช่นเรื่อง โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน โฉมหน้าจักรพรรดินิยม ความเป็นอนิจจังของสังคม ฯลฯ [29]

- รางวัลตุ๊กตาทอง เกิดขึ้นจากการริเริ่มของ นายสงบ สวนสิริ หรือ "สันตศิริ" บรรณาธิการนิตยสาร ตุ๊กตาทอง จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่เวทีลีลาศ ลุมพินีสถาน สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม จัดโดย หอการค้ากรุงเทพ นักแสดงนำยอดเยี่ยม จะได้รับรางวัล ละคอนรำ เป็นตุ๊กตา รูปนางละคอนรำ อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อรางวัลนี้ว่า รางวัลตุ๊กตาทอง ส่วนรางวัลอื่น จะได้รับ โล่สำเภาทอง[30]

วัฒนธรรมบันเทิงและวิถีชีวิต

- ฉลอง สุนทราวาณิชย์เสนอว่า

1) การมาถึงของ "กึ่งพุทธกาล" กระตุ้นเร้าความตื่นตัวในพุทธศาสนาและการสร้างพระเครื่องอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นล่างของสังคมไทยที่ยังมีความศรัทธาแน่นแฟ้นมั่นคงในพุทธพยากรณ์ และอานิสงส์ของการทำบุญเพื่อสืบพระศาสนา

2) การเกิดขึ้นมาของ "ตลาดพระเครื่อง" และ "การยกระดับการอธิบาย" พลานุภาพของพระเครื่องในกรอบของความรู้ทางประวัติศาสตร์ (ซึ่งในด้านหนึ่ง ก็เป็น "วิทยาศาสตร์" ด้วย) และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ด้วยภาษา (และจินตนาการ ?) ของวิทยาศาสตร์ ได้ทำให้ในสายตาของคนชั้นกลางผู้มีการศึกษาในเมือง ที่รับรู้ "ความจริง" ของพระเครื่องโดยผ่าน "การอ่านหนังสือ" นั้น พลานุภาพหรือ "ความขลัง" ของพระเครื่อง จึงไม่ใช่เรื่องงมงายไร้สาระอีกต่อไป หากเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง สามารถจับต้องได้ และสนองตอบต่อรสนิยมและความต้องการตามอุดมคติแบบทางโลกได้จริง ความนิยมในพระเครื่องในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงแผ่ขยายออกไปอย่างเข้มข้น ไต่ระดับความนิยมขึ้นไปดำรงสถานะของ "สุดยอด" เครื่องราง เหนือเครื่องรางอื่นๆ มาจนถึงปัจจุบัน[31]

ท้องถิ่น

- การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 ธันวาคม ได้เสนอให้ยกเลิกมาตรา 45(2) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับคณะเทศมนตรี ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลได้หวังจะลดอำนาจของสมาชิกสภาเทศบาลในการควบคุมคณะเทศมนตรีลงอย่างมาก สมาชิกสภาเทศบาลจึงไม่มีอำนาจใดๆในการควบคุมคณะเทศมนตรีได้

ข่าวในพระราชสำนัก

- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม [32]

................................................................................................

2501

การเมือง

- 1 มกราคม มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งให้ พลโทถนอม เป็นนายกรัฐมนตรีและเลื่อนยศเป็นพลเอก[33]

- 7 กันยายน พรรคหนุ่มไทยได้เดินขบวนไปสถานทูตกัมพูชาเพื่อประท้วงกรณีเขาพระวิหาร จนปะทะกับตำรวจขั้นตะลุมบอน บาดเจ็บนับร้อย เหตุเกิดจาการที่คณะผู้แทนกัมพูชาได้เดินทางมาเจรจากับรัฐบาลไทยเรื่องสิทธิในปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งกัมพูชาก็อ้างว่าเป็นของตน โดยหยิบยกเอาเอกสารที่ไทยได้ยอมลงนามเอาไว้กับฝรั่งเศสในอดีตมาเป็นข้ออ้าง ขณะที่ฝ่ายไทยก็ยืนยันว่าเป็นของไทยโดยสมบูรณ์ การเจรจาตกลงกันไม่ได้ นำไปสู่การที่กัมพูชายื่นฟ้องศาลโลกในเวลาต่อมา[34]

- 20 ตุลาคม สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นหัวหน้า คณะปฏิวัติ ทำการรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 โดยอ้างว่าไม่ใช่รัฐประหาร แต่ได้ประกาศล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ล้มเลิกรัฐสภา ล้มเลิกพรรคการเมือง เลิกคณะรัฐมนตรี จับกุมนักคิดนักเขียนจำนวนมากโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา [35] เหตุผลของการปฏิวัติคือ ภัยคอมมิวนิสต์กำลังคุกคามรุนแรง ไม่สามารถ หลีกเลี่ยง ใช้วิธีใดนอกจากยึดอำนาจ และดำเนินการปฏิวัติในทางที่เหมาะสม[36]

- 6 พฤศจิกายน สฤษดิ์ ออกแถลงการณ์ประกาศใช้ มาตรา 17 ประหารชีวิต นายซ้ง แซ่ลิ้ม เจ้าของร้านขายรองเท้าสามแยก วัดนางนอง ย่านตลาดพลู ในฐานะผู้จ้างวานให้วางเพลิงตึกแถวในย่านเดียวกัน โดย ซ้ง ถูกนำไปประหารชีวิตข้างมุมกำแพง หอสมุดแห่งชาติ ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาตรา 17 เป็นมาตราหนึ่งใน 20 มาตรของ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ที่ให้ไว้ ณ วันที่ 28 มกราคม 2502 ในวรรคหนึ่งมีข้อความว่า

...ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายก่อกวนหรือคุกคามความสบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติขอคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือการกระทำใดๆ ได้ และให้ถือคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย...

ธรรมนูญนี้ ใช้แทนรัฐธรรมนูญอย่างยาวนานมาจนถึง ปีพ.ศ.2512 ถึงมีการประกาศใช้

รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ในปีนี้มีการยิงเป้ามือเพลิง อีก 4 ราย

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- กุมภาพันธ์ จับตัว ซีอุย แซ่อึ้ง ฆาตกรฆ่าเด็กกินเครื่องใน หลังจากก่อคดีมากว่า 3 4 ปี และถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตวันที่ 17 กันยายน 2502 ณ เรือนจำบางขวาง ต่อมาในวันที่ 27 กันยา มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (ม.มหิดล ศิริราช ในปัจจุบัน) ได้ทำหนังสือขอศีรษะซีอุย มาทำการผ่าตัด เพื่อ วิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งความวิปริตผิดประหลาดจากผู้คนธรรมดา ชื่อของ ซีอุยก็เลยเป็นสมญานามของมนุษย์กินคนแต่นั้นมา [37]

- 14 มีนาคม มีรายงานข่าวว่า นายเขียน ยิ้มศิริ อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวหน้ากองโบราณคดี ได้ค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตามลัทธิพุทธศาสนามหายาน อายุไม่ต่ำว่าพ.ศ.1600 [38]

- พฤษภาคม มิถุนายน อหิวาตกโรค ระบาดเข้ามาที่ราษฎร์บูรณะ ซึ่งขณะนั้นอหิวาต์ และไทฟอยด์กำลังบาดอยู่ที่อินเดีย แล้วระบาดลามเข้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันออก ในเวลาประมาณ 1 เดือน คร่าชีวิตคนไปกว่า 900 ล้มป่วยมากกว่า 6 พันคน อันเนื่องมาจากสาเหตุฝนไม่ตก จึงบริโภคน้ำในแหล่งน้ำที่มีเชื้ออหิวาต์ ได้มีการประกาศเขตติดต่อโรคร้ายใน 12 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก เพชรบุรี ชลบุรี กรุงเทพฯ ธนบุรี [39]

- กรกฎาคม ละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาอดีตนายกฯ ป.พิบูลสงคราม ประกาศรับอุปการะ พิสมัย วิไลศักดิ์ อนุภรรยา อดีตท่านผู้นำ ที่ตกเป็นอนุภรรยา หลังจากพบกันเมื่อ พ.ศ.2499 ขณะที่ไปรำฉุยฉายพราหมณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล และได้เข้าสู่วงการแสดงหนังอย่างจริงจัง [40]

ท้องถิ่น

- หลังสฤษดิ์ ปฏิวัติ 20 ตุลาคม รัฐบาลได้ดึงเอาเทศบาลมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการอย่างสมบูรณ์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทน การปกครองท้องถิ่นก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมของราชการประจำ และแต่งตั้งข้าราชการเช้ามาบริหารแทน ดังที่แสดงใน ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 34, 40 และ 55 [41] เป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนปีพ.ศ.2510 รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลอีกครั้งหนึ่ง[42]

ข่าวในพระราชสำนัก

- ในหลวง ทรงเริ่มเสด็จออกต้อนรับให้ภาคเอกชนและคณะทูตานุทูตต่างประเทศได้เข้าเฝ้ามากขึ้น[43]

................................................................................................

2502

การเมือง

- 3 กุมภาพันธ์ มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 240 คน ทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติ [44]

- 9 กุมภาพันธ์ สภานิติบัญญัติรับรองให้สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศใน ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ[45]

- พฤษภาคม ศิลา วงศ์สิน อายุกว่า 50 ปี พร้อมด้วยพลพรรคกว่า 100 คน ปะทะเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากร่วมมือกันฆ่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองตาย 5 คน ณ บ้านใหม่ไทยเจริญ ต.สารภี อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ถูกตั้งข้อหาว่า ตั้งตนเป็น กษัตริย์ มีจุดมุ่งหมายเป็นกบฏ อวดอ้างตัวเป็นผู้วิเศษ ในที่สุดก็ถูกประหารชีวิตด้วย มาตรา 17 ต่อมาถูกเรียกว่า กบฏผีบุญ [46]

- 1 กรกฎาคม สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลงมือบงการเผาฝิ่นและกล้องสูบฝิ่นที่ด้วยตัวเอง ณ ท้องสนามหลวง หลังจากที่ได้ประกาศเลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน [47] แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อฝิ่นหมดไป เฮโรอีน ยาเสพติดชนิดใหม่ก็เข้ามาแทนที่

- 6 กรกฎาคม สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้มาตรา 17 ประหารชีวิต ศุภชัย ศรีสติ ในฐาน เป็นตัวแทนคอมมิวนิสต์อยู่ในประเทศไทย และ ดำเนินงานตามคำสั่งขององค์การคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศกระทำการร้ายเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ [48]

- 6 ตุลาคม กัมพูชาฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (หรือศาลโลก) ณ กรุงเฮก ได้ยื่นฟ้องกล่าวโทษประเทศไทย ว่า

ได้ละเมิดอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารอันเป็นของกัมพูชาและกัมพูชาได้ร้องต่อศาล 2 ประเด็นคือ 1. ให้รัฐบาลไทยถอนกำลัง คือ อาวุธที่ได้จัดไปวางไว้ ณ ปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) และ 2. ให้อธิปไตยเหนือดินแดนเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา

รัฐบาลต่อสู้คดีและมีมติให้ เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าคณะทนายความ ได้มีประชาชน

ร่วมกันบริจาคเงินช่วยรัฐบาลในการต่อสู้คดีเป็นอันมาก

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- กันยายน ฆาตกรรมนวลฉวี เพชรรุ่ง ที่ถูกฆ่าโดย นายแพทย์อธิป สุญาณเศรษฐกร สามีของเธอเอง ซึ่งฆ่าแล้วทิ้งศพบริเวณสะพานที่เกี่ยวข้องใน 3 ท้องที่ บางบำหรุ มักกะสัน คลองเตย บ้านใหม่ ชาวบ้านเรียกสะพานสายนี้ว่า สะพานนวลฉวี [49]

วัฒนธรรมบันเทิงและวิถีชีวิต

- สุรพล สมบัติเจริญ (2473-2511) ดังขึ้นมากับเพลง ลืมไม่ลง[50] ก่อนจะก้าวมาเป็น ราชาเพลงลูกทุ่ง (ในพ.ศ.2507?)

ข่าวกีฬา

- 12 – 17 ธันวาคม กีฬาแหลมทองครั้งที่ 1 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ สนามศุภชลาศัย มีคนไทย นับแสน พากันเข้าไปร่วมพิธีเปิดงาน มีประเทศที่เข้าร่วมคือ พม่า ลาว มลายู (มาเลเซีย) สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย[51]

ข่าวในพระราชสำนัก

- ในหลวงทรงดนตรีที่ได้เริ่มที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[52]

- ในหลวงและพระราชินีเสด็จประพาสต่างประเทศปลายปีจนถึงต้นปี พ.ศ.2503 เป็นเวลา 4 เดือน เสด็จเยือนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า ได้รับปฏิกิริยาตอบสนองในทางที่ชื่นชอบเป็นอย่างยิ่งของประชาชน ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้อออกหมายกำหนดการอย่างรอบคอบ[53]

................................................................................................

2503

การเมือง

- 13 พฤศจิกายน ถอดสมณศักดิ์ พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษดิ์ และ พระศาสนโสภณ (ปลอด อตฺถการี) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส โดย สำนักนายกรัฐมนตรี สฤษดิ์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระมิลธรรมถูกบังคับให้สึก และถูกฟ้องศาลต่อมาด้วยข้อหา มีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ แม้อีก 4 ปีต่อมา ศาลทหารกรุงเทพ จะพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่ก็ยืดเยื้อมาอีก 15 ปีเนื่องจาก พระสงฆ์ สามเณร รวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้องขอคืนสมณศักดิ์[54]

- 21 พฤศจิกายน เผ่า ศรียานนท์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคประจำตัว ที่บ้านพัก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประมาณ อดิเรกสาร รับศพกลับมากระทำพิธีที่วัดอินทรวิหาร

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- 20 กุมภาพันธ์ เทศบาลนครกรุงเทพฯ สั่งปิดโรงงานชำแหละเนื้อหมา ที่ต.สำโรง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ[55]

ข่าวในพระราชสำนัก+ข่าวกีฬา

- สฤษดิ์ วางแผนการให้ในหลวงและพระราชินีเสด็จประพาสเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจ ระหว่างกลางเดือนมิถุนายน 2503 และกลางเดือนมกราคม 2504 เสด็จเยือน 14 ประเทศ[56]

- สฤษดิ์รื้อฟื้นพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (ซึ่งเป็นทั้งพิธีพุทธและพราหมณ์) โดย มีในหลวงและพระราชินีเสด็จร่วมพิธี หรือการรื้อฟื้นพระราชพิธีทอดกฐิน โดยเฉพาะขบวนพระราชพิธีทอดพระกฐินทางชลมารค ที่ถูกระงับไป[57]

- โผนชิงแชมป์โลก กับปาสคาล เปเรซ แชมเปี้ยนชาวอาร์เจนตินา ณ เวทีมวยลุมพินี เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 หน้าพระที่นั่ง ในหลวง และพระราชินี เป็น แชมป์มวยโลกคนแรกของไทยหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับก็ตื่นเต้นและประโคมข่าวอย่างอึกทึกครึกโครมมาเป็นเวลานาน อันที่จริงการชิงแชมป์โลกมีมาก่อนหน้านี้ ใน ยุคอัศวินผยอง แต่ก็พ่ายแพ้มาทั้งสามครั้ง ในทุกมุมเมือง เปิดเพลง เราเชียร์โผน และเต็มไปด้วยภาพโปสเตอร์รูปของโผนแพร่ออกไปติดตามเสาไฟ ผนังบ้าน กำแพงวัด วิกหนัง และตามสี่แยก ชุมนุมชนต่างๆ

นี่คือเนื้อเพลงสมัยนั้น

“...เปเรซจะแข็งอย่างไร แต่โผนเลือดไทยต้องเชียร์ไว้ดีกว่า...

แต่บางคนแปลงเพลงเป็น

...โผน กิ่งเพชร เปรเรซ กิ่งไผ่ โผนมือไวจับไข่เปเรซ...

โผน ชนะคะแนนไปอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ 143-145 (กรรมการอาร์เจนตินา) / 145-137

(กรรมการชาวไทย) / 146-140 (กรรมการชี้ขาด) หลังจากนั้น ประชาชนคนดูตบมือตีตีนแทบเวทีจะ

ถล่มทลาย เมื่อพิธีกรของานประกาศผลการแข่งขันให้โผนแห่งประเทศไทยเป็นแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท

คนใหม่ โผนรับพระราชทางรางวัลจากในหลวง และพระราชนี ถนอม คาดเข็มขัดแชมป์โลกให้ [58]

................................................................................................

2504

เศรษฐกิจ

- เริ่ม แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2504-2506 ต่อมาปรับเปลี่ยนไปเป็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2506-2509 ถูกนับเป็นหมุดหมาย และรอยต่อแห่งยุคสมัยของประเทศไทย

- 31 พฤษภาคม สฤษดิ์ใช้มาตรา 17 ประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ อดีต ส.ส. จ.สกลนคร และนายทองพันธ์ สุทธิมาศ อดีตสมาชิกสภาจังหวัดเดียวกัน ด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิต์คิดกบฏแบ่งแยกดินแดนภาคอีสาน คิดล้อมล้างรัฐบาล ทำลายศาสนาและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกนำไปประหารที่สนามบิน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร อนึ่งครองเคยถูกจับตั้งแต่คราวกบฏสันติภาพ พ.ศ.2495 มาแล้ว

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- 31 พฤษภาคม นักเรียนชั้นม.6 ต่อมาทราบชื่อว่า เปี๊ยก หรือปุ๊ จำเริญ บุลย์ดิษฐ์ (หรือ ปุ๊ ระเบิดขวด) กับ พรรคพวก ก่อเหตุใช้กระเป๋าบรรจุระเบิดฟาดใส่ในรถเมล์ เบอร์ 22 เป็นผลให้นักเรียนสาว น.ส.มาลี พวงสมบัติ ถูกสะเก็ดระเบิดตัดคอหวิดขาด ตายทันที นางวลัย พวงสมบัติ แม่ น.ส.มาลีกล่าวว่า

ลูกฉันก็เหมือนกับลูกคนอื่น เข้ากรุงมาก็เพื่ออนาคตที่สุกใส แต่ไม่ทันไร ฉันก็ต้องห่อกระดูกกลับบ้าน นักเรียนในกรุงเป็นอย่างนี้หรือ... ก่อนจะหิ้วกระดูกลูกกลับบ้านที่นครสวรรค์

- เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่สังคมไทย ยกประเด็นเรื่องเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่ ตำรวจวางมาตรการวางแผนเตรียมปราบแก๊งเยาวชนอย่างใกล้ชิด วงสังคมศึกษาก็เตรียมสัมมนาหัวข้อว่าด้วยเยาวชน ถึงขนาดมี คหบดีผู้ไม่เปิดเผยนาม ประกาศให้รางวัล 2 ล้านบาทผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ แก่ผู้สามารถแก้ปัญหาเยาวชนได้ ก่อนหน้านี้ก็มีเหตุฆาตกรรมและล่วงละเมิดทางเพศ น.ส.เตือนใจ นักเรียนมัธยม ฯ เมื่อเดือนมกราคม โดยกลุ่มเยาวชนเช่นกัน [59]

- 22 มิถุนายน พบเด็กอายุ 14 ปี หนีออกมาจาก ค่ายนรก ย่านธนบุรี สันนิษฐานว่ามีการใช้แรงงานและให้ยาเสพติดทลายระบบประสาทด้วย แต่ก็ไม่มีข่าวการทลายค่ายนรกที่ว่าอย่างไร[60]

- 21 พฤศจิกายน มีข่าวพิสดารว่า บุตรชาย คหบดี ย่านอ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ได้กลายเป็น เพศหญิง ไปตั้งแต่อายุ 14 ปี และหนีพ่อแม่ได้แต่งงานกับผู้ชาย ที่เคยเป็นเพื่อนเล่นด้วยกันตั้งแต่เด็กๆ เมื่อตรวจสอบพบว่า เขาคนนั้นได้กลายเป็น เธอ ไปจริงๆโดยเฉพาะในทางสรีระ ทางด้านวงการแพทย์กล่าวว่า ไม่เคยมีในเหตุการณ์ประวัติการแพทย์ พบเห็นแต่ในสัตว์เล็กๆเท่านั้น ซึ่งรายงานข่าวก็ได้หายไปในระหว่างที่ทางการจะได้เข้าไปพิสูจน์[61]

ข่าวในพระราชสำนัก

- ทักษ์ เฉลิมเตียรณ นักวิชาการ ตีความว่า พระราชดำรัสในปีใหม่ ปีนี้เป็นครั้งแรกที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาล และสนับสนุนโครงการพัฒนาของสฤษดิ์ ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจเกี่ยวกับปัญหาคอมมิวนิสต์[62] และตั้งข้อสังเกตอีกเช่นกันว่า หลังจากปีนี้ ในหลวงเสด็จออกให้เอกชนและกลุ่มบุคคลต่างๆเข้าเฝ้ามากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แสดงให้เห็นว่า ทรงสร้างความสัมพันธ์กับคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มชนชั้นกลางมากขึ้น[63]

- 2 กันยายน พบพระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 6 (เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ ลำดับราชนิกุล วรวรรณ ทั้งหมดแล้ว เป็นองค์ที่ 14 ขณะที่ถูกปลงพระชนม์มีพระชนมายุ 62 พรรษา) อยู่ในสภาพนอนคว่ำพระพักตร์อยู่ระหว่างโรงรถกับเรือนคนใช้ แพทย์ลงความเห็นว่าสิ้นพระชนม์มาแล้วประมาณ 3 วัน พระราชทรัพย์หายไปมูลค่าล้านบาท อาทิสร้อยพระศอฝังเพชร พระแสงปืนพก ฯลฯ ฆาตรกรคือ นายวิรัช หรือ เจริญ กาญจนาภัย ต้องโทษถึงประหารชีวิต ด้วยถือว่าเป็นการกระทำของ ผู้ร้ายอำมหิตหินชาติแต่ได้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต[64]

................................................................................................

2505

การเมือง

- 24 กุมภาพันธ์ กวาดล้างคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ ให้กรมตำรวจจับเด็ดขาดในท้องที่ 5 จังหวัด คือ พระนครและธนบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อุตตรดิถ์ ที่มีตัวการสำคัญคือ นายฟัก ณ สงขลา ทนายความชั้นสอง เคยเป็นทนายความ คดีสวรรคต และเป็นอดีต ส.ส.อุตตรดิตถ์ และ นายรวม วงศ์พันธ์ เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในระดับกรรมการกลางพรรคประจำภาคกลาง สฤษดิ์ใช้มาตรา 17 ประหารชีวิตรวม วงศ์พันธ์ ณ เรือนจำบางขวาง 24 เมษายน[65]

- 15 มิถุนายน คณะตุลาการที่ดำเนินคดี กรณีพิพาทเขาพระวิหาร ลงมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ ตัดสินให้ เขาพระวิหารเป็นของเขมร ไทยต้องถอนตัวออกจากดินแดนครอบครองให้แก่ประเทศเขมรในการพิจาณาคดีนี้ ศาลโลกได้อ้างถือเอาแผนที่ ซึ่งเขมรถือเป็นหลักฐานประกอบคำฟ้องของตน การตัดสินแยกออกเป็น 3 ประเด็นคือ

1) ตุลาการออกเสียง 9 ต่อ 3 ว่า เขมร(เขาพระวิหาร?-ผู้เรียบเรียง)ตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยเขมร

2) การออกเสียง 9 ต่อ 3 บังคับให้ไทยถอนกำลังทหาร ตำรวจ หน่วยรักษาการณ์หรือหน่วยผู้ดูแลต่างๆที่เข้าไปอยู่ที่ตัวเขาพระวิหาร หรือในบริเวณใกล้เคียง หรือในดินแดนเขมรออกไปเสีย

3) การออกเสียง 7 ต่อ 5 บังคับให้ไทยบูรณะวัตถุต่างๆ ของเขมรที่ไทยครอบครองในเขาพระวิหาร ตั้งแต่ปีค.ศ.1957 (พ.ศ.2497) หรือนำวัตถุที่เจ้าหน้าที่โยกย้ายออกไปจากเขาพระวิหารคืนให้หมด

คำพิพากษาของศาลโลกนี้ถือเป็นที่สุด ไม่มีอุทธรณ์ แต่อาจมีการพิจารณาใหม่ได้หาปรากฏ

ข้อเท็จจริงอื่นอันสำคัญซึ่งศาลไม่รู้มาก่อน

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ประชนชนชาวไทยจัดการชุมนุม เดินขบวนอย่างกว้างขวาง และมีการเขียนจดหมาย โทรเลขถึงรัฐบาล แสดงความไม่พอใจต่อคำตัดสินของศาลโลก และกล่าวว่า เป็นการตัดสินที่ใช้ ความลำเอียงเข้าข้างเขมร จะขอยอมพลีชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อป้องกันอธิปไตยของชาติไทย แต่ในทางกลับกัน สฤษดิ์ว่า ต้องเคารพต่อศาลโลก อย่างไรก็ตามรัฐบาลแม้จะยอมรับตามพันธกรณีในกฎบัตรสหประชาชาติ แต่ก็ขอตั้งข้อประท้วงและข้อสงวนสิทธิอันชอบธรรมของไทยในเรื่องนี้ไว้ เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางกฎหมายที่จำเป็นซึ่งอาจมีขึ้นในภายหน้า ให้ได้กรรมสิทธิ์นี้คืนมาตามโอกาสอันสมควร[66] ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งแรกในทศวรรษนี้ หลังจากที่เคยมีการชุมนุมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศสเมื่อพ.ศ.2483 สมัยป.พิบูลสงคราม

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- มกราคม หลังจากที่ปลายปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกิดโจรสลัดอาละวาดปล้นเรือโดยสารในทะเลสาบสงขลา ซึ่งสลัดกลุ่มนี้เป็นโจรอิทธิพล ทั้งที่เป็นอดีตกำนัน อดีต ส.ส.สงขลา พ่อค้าใหญ่ในจังหวัด สุดท้ายทางการก็เข้าไปทลายล้างขุมโจรได้ที่ ต.บางก่ำ อ.รัตตภูมิ สงขลา[67]

- ในเดือนมกราคม ยังเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงพร้อมกับการรวมกลุ่มของดาวเคราะห์ ที่หาดูได้ยากในพันปี มีเกิดขึ้นราว 14 ครั้ง แต่จะเกิดพร้อมสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เพียงครั้งเดียว แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้เกิดก่อนพระอาทิตย์จะโผล่พ้นขอบฟ้าไทย พันเอก (พิเศษ) ประจวบ วัชระปาณ นักดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ทางโหราศาสตร์กล่าวว่า จะมีเหตุการณ์สำคัญบนโลกตามมา คือ อาจจะมีศาสดา หรือมหาบุรุษของโลกเกิดขึ้น เช่น เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า หรือ เจงกิสข่านเกิดก็มีปรากฏการณ์เช่นนี้[68]

- กันยายน แก๊งค์วัยรุ่น 2 แก๊งค์ในกรุงเทพฯ คือ แก๊งค์ระเบิดขวด นำโดย ปุ๊ จำเริญ บุญยดิษฐ์ อายุ 20 ปี มีสมาชิกคือ ดำ เอสโซ่ โหล แม้นศรี แอ๊ดเสือเผ่น ฮัลโหล เป๊ปซี่ และตุ๋ย ยังวัน มีเหตุทะเลาะวิวาทกับ แก๊งค์ไบเลย์ มีจ๊อด เฮาดี หรือ สมจิตร กรองแก้วเป็นหัวหน้า มีสมาชิก คือ แดง ไบเล่ย์ คานซาคาล แดง ไตรรงค์ รองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า ส่วนมากวัยรุ่นเหล่านี้เป็น ลูกคนมีเงิน เดิมพวกนี้เป็นเพื่อนกันแต่มาทะเลาะวิวาทกันภายหลัง[69]

- 29 ตุลาคม เกิดมหาวาตภัยที่ภาคใต้กว่า 9 จังหวัด ถูกพายุและน้ำท่วมเสียหายย่อยยับ คนตาย 911 คน สูญหาย 142 คนบาดเจ็บสาหัส 252 คน คนไม่มีที่อยู่อาศัยหมื่นกว่าคน โดยเฉพาะแหลมตะลุมพุกผู้คนหายไปเกือบหมดตำบล ในหลวงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคของประชาชนที่ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล ประมาณ 1.6 ล้านบาท พร้อมสิ่งของเครื่องใช้ และยารักษาโรค[70]

- 25 ธันวาคม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์หัวสี ฉบับปฐมฤกษ์ วางแผง โดยนายกำพล วัชรพล เป็นผู้ก่อตั้ง และหัวหน้ากองบรรณาธิการคนแรก[71] และยั่งยืนเป็นแบบฉบับมาถึงปัจจุบัน

ข่าวในพระราชสำนัก

- นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับพระราชทานวโรกาสให้เข้าเฝ้าการทรงดนตรี ที่เวทีลีลาศ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต[72]

................................................................................................

2506

การเมือง

- 8 ธันวาคม สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ตาย เป็นนายกฯคนแรกที่ ตายคาตำแหน่ง [73] หลังจากการตายของสฤษดิ์แล้ว ความอื้อฉาวเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เปิดเผยออกมา และถูกยึดทรัพย์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2507 ปรากฏว่า สฤษดิ์ ใช้เงินแผ่นดินเพื่อเลี้ยงดูนางบำเรอ และลงทุนธุรกิจ เงินผลประโยชน์สำคัญ 3 แหล่งที่รัฐบาลสนใจก็คือ เงินสืบราชการลับสำนักนายกรัฐมนตรี เงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และเปอร์เซ็นต์จากการขายสลากกินแบ่งที่ควรจะให้แก่กองทัพบก[74]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- มิถุนายน วารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับปฐมฤกษ์วางแผง วารสารหัวก้าวหน้าในยุค 2500 : สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็น บรรณาธิการ

- 4 กุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์ลงข่าว พระราชสุทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ระลึกชาติได้ รัฐบาลอเมริกันให้ความสนใจ ให้ผู้เขี่ยวชาญทางจิตตวิทยามาค้นคว้า ซึ่งเห็นประโยชน์ว่าจะได้นำไปใช้กับผูป่วยโรคจิตอันหาสาเหตุมิได้ ผลการทดสอบเห็นที่น่าพอใจ และเชื่อถือได้มากทีเดียว โดยเฉพาะการชี้สถานที่และครอบคัวในอดีตชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง[75]

ข่าวในพระราชสำนัก

- ในหลวงและพระราชินี เสด็จเยือนมลายู ปากีสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

สรุปว่า ในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2502-2506) ได้เสด็จเป็นทางการถึง 23 ประเทศ[76]

................................................................................................

2507

การเมือง

- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ในหลวงเสด็จมาเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2508[77] ถือเป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย

- 11 มิถุนายน ป.พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจ ณ บ้านพักที่ซากามิฮารา ประเทศญี่ปุ่น พิธีศพได้จัดที่บ้านและนำอัฐิเดินทางเข้าไว้ ณ กรุงเทพฯ[78]

- 20 พฤศจิกายน ถนอม ใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์สฤษดิ์ ที่มีอยู่ถึง 2,874 ล้านบาท ให้ตกเป็นของรัฐ เนื่องจาก

...จอมพลสฤษดิ์ ขณะที่มีชีวิตอยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการโดยมิชอบกระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สินของรัฐบาลไปหลายครั้งหลายหน มีจำนวนมากมาย...การกระทำดังกล่าวนี้มีผลเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร... [79]

- 30 พฤศจิกายน ได้มีการจับกุมผู้ต้องหากบฏ 3 ธันวาคม ที่วางแผนจะก่อการวันดังกล่าว ที่ตรงกับวันราชวัลลภ ผู้ต้องหาสำคัญระดับนายพลคือ พล.อ.อ. นักรบ บิณษรี พล.อ.ต. เอกชัย มุสิกบุตร และพล.อ.ท.เอิบ ปิ่นสุวรรณ[80]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน มีข่าวจระเข้ขนาดใหญ่ที่ยาวถึง 4 วาเศษ นาม ไอ้ด่าง ไล่กัดและกินคนตามตลิ่งบริเวณคลองบางมุด จ.ชุมพร จนกว่าจะถูกปราบ ไอ้ด่างได้กินคนไป 6 คน สิ้นฤทธิ์ด้วยการถูกระเบิด ซี.3 รวม 3 ลูก ไอ้ด่างมีชื่อเสียงไม่เบา ขนาดที่ว่าคณะถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีไล่ตามพรานถ่ายทำไปทุกระยะ หมายจะส่งฉายไปทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ที.วี.ช่อง 4 ก็ทำสารคดี สองฟากทางรถไฟ แพร่เรื่อ ง ไอ้ด่าง ออกทั่วประเทศ[81]

- 28 มีนาคม หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับปฐมฤกษ์ วางแผง พาดหัวว่า "เมียน้อยจอมพลสฤษดิ์ ท้องในอเมริกา พบรักแท้กับนักเรียนไทยวัยรุ่น" โดยมีนายประพันธ์ เหตระกูล เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา[82]

วัฒนธรรมบันเทิงและวิถีชีวิต

- 1 มกราคม อันเนื่องมาจากนโยบายสฤษดิ์ที่จะยกเลิกสามล้อ ในวันนี้ได้ประกาศให้ยกเลิกการจดทะเบียนจักรยาน สามล้อ และจักรยาน 3 ล้อนั่งส่วนบุคคลในจังหวัดพระนคร และธนบุรี สาเหตุจาก ปัญหาจราจร ปัญหาทางสังคมเกี่ยวกับการอพยพของ คนต่างจังหวัด ปัญหาความสะอาดเป็นระเบียบของบ้านเมือง ตลอดจนปัญหาโจรผู้ร้าย และความปลอดภัยของประชาชน และ กรรมกรผู้มีอาชีพทางนี้เอง [83]

- เริ่มใช้คำว่า เพลงลูกทุ่งเป็นครั้งแรก จากรายการทางโทรทัศน์ชื่อ เพลงลูกทุ่ง

- 3 ธันวาคม 2507 ฟื้นการประกวดนางสาวไทยที่ได้เว้นว่างมา 10 ปีเต็ม ในวันตัดสิน มีผู้ชมมากมาย มืดฟ้ามัวดิน ผลตัดสินปรากฏว่า อาภัสรา หงสกุล คว้ามงกุฎนางงาม [84]

ข่าวในพระราชสำนัก

- 31 พฤษภาคม ได้มีการประกวดแผ่นเสียงทองคำ นักร้องยอดเยี่ยมชายหญิงประจำปีครั้งที่ 1 จัดโดย มูลนิธิราชประชาสมาสัย ผลปรากฏว่า นักร้องชาย หญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ สุเทพ วงศ์กำแหง และสวลี ผกาพันธ์ ในหลวงและพระราชินี พระราชทานแผ่นเสียงทองคำ[85]

................................................................................................

2508

การเมือง

- 7 สิงหาคม - วันเสียงปืนแตก: พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มต่อสู่ด้วยอาวุธวันแรกที่ อ.นาแก จ.นครพนม[86] ฝ่ายรัฐไทยนำโดย พ.ต.อ. สงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม การปะทะเป็นไปอย่างรุนแรง มีการเสียชีวิต และบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย[87]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- 25 กรกฎาคม อาภัสรา หงสกุล หรือ หนูปุ๊ก ตัวแทนจากประเทศไทย วัย 18 ปี ได้เป็น นางงามจักรวาลถือว่าเป็นสาวเอเชียคนแรกที่ได้ตำแหน่งนี้

เมื่อเสียงโฆษกประกาศผลตัดสิน เสียงปรบมือจากคนอเมริกันนับหมื่นดังกึกก้อง นางสาวไทยผู้กลายเป็นนางงามจักรวาลคนล่าสุดยิ้มอย่างผ่องใส รับเกียรติด้วยท่าทางสงบ เพียงแต่ยกมือขึ้นทาบทรวงอกซึ่งมีพระเครื่ององค์เล็กห้อยคออยู่ แล้วลูบทรงผม เมื่อเดินเข้ารับการสวมมงกุฎจากนางงามจักรวาลคนก่อน พ่อแม่ของอาภัสราผวาเข้ากอดลูกสาว จูบแก้มซ้ายขวา พร้อมกับนางงามชาติอื่นๆ ก็เข้าจูบแสดงความยินดีจนแก้อาภัสราแดงไปด้วยลิปสติก

เกียรติยศครั้งยิ่งใหญ่ในด้านความงามประจำชาติ เป็นของชาติไทย...

และนี่คือข้อความที่หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ได้บันทึกไว้[88]

- 28 สิงหาคม เกิดคดีรักระหว่างชาติที่หนุ่มคนใช้ไทย อายุ 25 ปี พาลูกสาวทหารจัสแมคชาวอเมริกันยศพันโท ที่อายุเพียง 15 ปีหนี สุดท้ายตำรวจติดตามไปพบที่ อ.ท่าเรือ จ.กาญจนบุรี ชายหนุ่มถูกดำเนินข้อหาพรากผู้เยาว์ ส่วนลูกสาวพ.ท. และครอบครัวก็กลับอเมริกา เพราะพ.ท.ได้รับคำสั่งให้ย้ายกระทันหัน[89]

- 6 พฤศจิกายน มีเรื่องเล่าลือเรื่อง สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ประชาชนนับหมื่นหลั่งไหลไปอาบกินเพื่อรักษาความเจ็บป่วยให้หาย แต่กลับกลายมาเป็นพิษ ประชาชนมีอาการท้องเดิน และป่วยเป็นโรคผิวหนัง แต่ประชาชนก็ยังหลั่งไหลไปไม่ขาดสาย จนกระทั่ง กระทรวงมหาดไทย ต้องเข้าควบคุม น้ำทิพย์ เอาไว้[90]

ข่าวในพระราชสำนัก

- ในหลวงและพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และ พระราชทานรางวัล ในงานประกาศผลรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 7 ประจำปี พ.ศ. 2507 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2508 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ครั้งที่ 8 ประจำปี พ.ศ. 2508 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร[91]

................................................................................................

2509

การเมือง

- 22 มกราคม ทหารและตำรวจไทยเกิดปะทะกับทหารกัมพูชา บริเวณบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด และมีการปะทะกันอีกครั้งเมื่อ 12 กุมภาพันธ์[92]

- 25 มกราคม วันสถาปนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น [93] เป็นมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งที่สอง

- 5 พฤษภาคม - มรณกรรมของ จิตร ภูมิศักดิ์ นักประพันธ์และนักคิด ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย (เกิด 25 กันยายน พ.ศ. 2473)[94]

ข่าวกีฬา

- 9-20 ธันวาคม - เอเชียนเกมส์ 1966 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย มีนักกีฬาจำนวน 2 พันคนเศษ จาก 18 ประเทศ วันพิธีเปิด ในหลวง พระราชินี พระเจ้าลูกเธอทั้ง 3 พระองค์ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล เสด็จไปยังสนามศุภชลาศัย ระหว่างพิธีเปิด เมื่อเสด็จประทับยังพระที่นั่งแล้ว บรรดานิสิตนักศึกษาแปรอักษรรูปพระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 2 พระองค์ แล้วขบวนนักกีฬาก็เข้าสู่สนาม[95]

- 30 ธันวาคม - ชาติชาย เชี่ยวน้อย เอาชนะทีเคโอยก 9 วอลเตอร์ แม็คโกแวน นักมวยชาวอังกฤษ ได้เป็นแชมป์โลกคนที่ 2 ของไทย[96] ณ กีฬาสถานหัวหมากท่ามกลางสายตาของประชาชนไทยนับหมื่น หลังจากได้รับการชูมือ ในหลวงและพระราชินีที่ทรงชมอยู่ ณ ที่นั้น ให้เข้าเฝ้า พระราชทานพวงมาลา และทรงยกพระหัตถ์ลูบศีรษะชาติชายหลังการชก ในหลวงตรัสว่า

เก่งมาก ให้พยายามต่อไป [97]

- มีการเผยแพร่ภาพ การแข่งขันฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศ ของ รายการฟุตบอลโลก ทางสถานีโทรทัศน์ไทยเป็นครั้งแรกในปีนี้ [98] อังกฤษชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลโลก ด้วยการเอาชนะทีมชาติเยอรมนี 4-2 ประตู เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม [99]

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- 24 มีนาคม ถนอม ใช้มาตรา 17 ประหารชีวิตโจรปล้นฆ่า รวมทั้งหมด 6 คน เป็นกลุ่มโจรปล้นตลาด อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา ฆ่าราษฎรตาย ล้อมโรงพัก ที่ว่าการอำเภอ ฆ่าเจ้าหน้าที่ตาย เคยเป็นข่าวเมื่อ 4 ปีมาแล้ว มีมติให้ยิงเป้า ณ ที่เกิดเหตุ ลานสนามบาสเกตบอล โรงเรียนนิตยานุกูล พบประวัติกลุ่มโจรทั้งหมดมีอาชีพ ทำนา อายุมากที่สุด 44 ปี น้อยที่สุด 18 ปี หลังจากประหารแล้ว ฝูงชนเฮโลไปแย่งกันเก็บหัวและปอกกระสุนปืนคาร์ไบน์ที่หล่นอยู่ เพื่อไปทำเป็น มหาอุดคล้องคอขลังและศักดิ์สิทธิ์ดีนักแล... [100]

- 18 พฤษภาคม ถนอม ประหารชีวิต นายบุญมี เชี้ยวบางยาง ตามมาตรา 17 ในฐานะประพฤติตัวเป็นหัวหน้าโจรออกปล้นร้านทอง และฆ่าเจ้าทรัพย์ตายอย่างทารุณโหดเหี้ยม ฆ่าคนมาแล้วถึง 21 ศพ ทุกครั้งจะใช้ เรือ ออกปล้น

- 17 กรกฎาคม จีรนันท์ เศวตนันท์ ได้ครองตำแหน่งนางสาวจักรวาลอันดับที่ 2[101]

วัฒนธรรมบันเทิงและวิถีชีวิต

- 16 มกราคม ปรากฏเป็นข่าวว่า นายเหมทอง ยโสรัตน์ ครูชั้นโท แห่งโรงเรียนการช่างราชบุรี อายุ 34 ปี คิดค้นเครื่องประดิษฐกรรมทาง อีเล็คโทรนิค ชิ้นแรกของโลก คือ เครื่องวัดผลการศึกษา HEM 65-A ใช้ในการตรวจข้อสอบ ประสิทธิภาพมีอยู่ว่า ถ้ามีหลายเครื่องจะสามารถประกาศผลสอบนักเรียนสี่พันคนได้ภายใน 2 ชั่วโมง เครื่องนี้มีต้นทุนประมาณ 8 พันบาทต่อเครื่อง[102]

................................................................................................

2510

การเมือง

- 30 มีนาคม หนังสือพิมพ์เสนอข่าวว่า นายจิม ทอมสัน ราชาไหมไทยได้หายตัวไปอย่างลึกลับ จากบ้านพักตากอากาศที่ มาเลเซีย เป็นปริศนามาจนทุกวันนี้

- 8 เมษายน ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก พล.อ.สุรจิตร จารุเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร คดีกินป่า มีกำหนด 15 ปี และให้จำคุกคุณหญิงน้อมจิต ภรรยา กับนางจำรูญ ศศิประภา ภรรยาพล.ท.อรรถ ศศิประภา แม่ทัพแห่งกองทัพภาคที่ 1 ในฐานะให้การสนับสนุน 10 ปี จำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกายืนคำพิพากษาตามศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้ง 3 เข้าคุกที่เรือนจำคลองเปรม พล.อ.สุรจิตร สิ้นชีวิตในคุกด้วยโรคหัวใจวาย[103]

เศรษฐกิจ

- เริ่ม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2510-2514

สื่อสารมวลชนและวรรณกรรม

- 23 พฤศจิกายน ถนอม ใช้มาตรา 17 ประหารหัวหน้าและตัวการผลิตเฮโรอีน การจับเฮโรอีนครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท[104]

ข่าวกีฬา

- เกิดรายการกีฬาฟุตบอลต่างประเทศ ตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ [105]

ท้องถิ่น

- 23 ธันวาคม ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นทั่วประเทศ มีทั้งสิ้น 118 เทศบาล ผู้สมัครรวมกันทั่วประเทศ 7,765 คน[106]

...............................................................................................


[1] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.364

[2] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.378-379

[3] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.365

[4] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.127-134

[5] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี (กรุงเทพฯ : การเวก), 2521, น.24

[6] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.373

[7] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.387

[8] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.375

[10] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.134

[11] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.379

[12] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.25

[13] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.383-384

[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.387

[15] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.23

[16] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.390-391

[17] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.387

[18] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.377

[19] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.387

[20] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.391

[21] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.392-393

[22] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.395

[23] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.396-397

[24] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ภาคผนวก : ความเป็นมาฯ ใน รัฐประหาร 19 กันยา, 2550, น.225

[25] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.399

[26] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.399

[27] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.17-22

[28] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.14-17

[29] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยฯ, 2550, น.355

[31] ฉลอง สุนทราวาณิชย์. ข้อมูลรองรับอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการทำตลาดพระเครื่องไทย เมื่อพระเครื่องก้าวขึ้นเป็นสุดยอดของเครื่องรางไทย [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา

http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999648.html อย่างไรก็ตาม ฉลองกล่าวว่าเป็นบทความฉบับลำลองไม่เหมาะที่จะนำไปอ้างอิงใดๆ

[33] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.38

[34] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.39

[35] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ภาคผนวก : ความเป็นมาฯ ใน รัฐประหาร 19 กันยา, 2550, น.225

[36] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.37

[37] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.33-36

[38] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.41

[39] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.30-33

[40] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.33-36

[41] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ.2476 2500 ฯ, 2543, น.150

[42] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.199

[43] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.373

[44] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ภาคผนวก : ความเป็นมาฯ ใน รัฐประหาร 19 กันยา, 2550, น.40-41

[45] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ภาคผนวก : ความเป็นมาฯ ใน รัฐประหาร 19 กันยา, 2550, น.225

[46] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.49-64

[47] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.55-56

[48] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.56

[49] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.46-49

[50] วัฒน์ วรรลยางกูร. สารคดีชีวิต คีตกวีลูกทุ่ง : ไพบูลย์ บุตรขัน, กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2541, น. 127

[51] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.54

[53] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.357

[54] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.65-69

[55] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.74-75

[56] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.357

[57] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.365-366

[58] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.62-65

[59] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.86-89

[60] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.91

[61] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.92

[62] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.361

[63] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.373

[64] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.82-86

[65] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.110-111

[66] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.98-104

[67] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.111-112

[68] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.114

[69] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.109-110

[70] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.104-109

[73] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. ภาคผนวก : ความเป็นมาฯ ใน รัฐประหาร 19 กันยา, 2550, น.225

[74] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.385-386

[75] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.130

[76] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2548, น.357

[78] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.146

[79] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.136-139

[80] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.144-145

[81] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.139-144

[83] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.147

[84] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.144

[85] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.144-145

[87] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.162-163

[88] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.152-154

[89] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.160-161

[90] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.154-159

[92] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.183-184

[95] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.168-173

[97] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.179-182

[98] เนตรนภา ประกอบกิจ. พัฒนาการของวัฒนธรรมฟุตบอลต่างประเทศในสังคมไทย พ.ศ.2509-2544 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544.

[100] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.173-179

[101] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.182-183

[102] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.185

[103] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.190-191

[104] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.199

[105] เนตรนภา ประกอบกิจ. พัฒนาการของวัฒนธรรมฟุตบอลต่างประเทศฯ, 2544.

[106] สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี, 2521, น.199




สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2451-2506)
ที่มาภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E:Sarit.jpg


สุลักษณ์ ศิวรักษ์(พ.ศ.2475-ปัจจุบัน) อดีตบรรณาธิการ วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ยุคแรก
ที่มาภาพ : http://www.onopen.com/upload/Sulak-%203.jpg


การกำเนิดของไทยรัฐ (2505) หนังสือพิมพ์หัวสี ก็เกิดขึ้นในยุคนี้
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐยุคแรกๆ พาดหัวข่วว่า "เอฟ.บี.ไอ เข้าสืบมือปืนรูบี สงสัยฆ่า ออสวอลด์ปิดปากจ๊าคเกอลินพร่ำจูบหีบศพก่อนฝัง"

ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/about/history/history3.htm


หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (2507) หนังสือพิมพ์หัวสีอีกฉบับที่เกิดในยุคนั้น
ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/about/ab_dec1.html